วันที่ 29  มิ.ย.67   นายแสวง บุญมีเลขาธิการ  กกต โพสต์ข้อความ ระบุ สิทธิสมัครรับเลือก  สมัครเป็นเท็จ  รับจ้างสมัคร  .คดีที่น่าสนใจในการเลือกลงกลุ่ม ศาลฏีกาได้มีคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ ลต สว 185/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ลต สว 169/2567    ว่า    "การที่ผู้คัดค้าน(ผอ.เลือกระดับระดับอำเภอ)รับสมัครผู้ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเกลือเป็นไปตามที่ผู้สมัครดังกล่าวประสงค์เข้ารับเลือกในกลุ่มที่ 5 ซึ่งผู้คัดค้านได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครแยกเป็นรายกลุ่มตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อันเป็นการดำเนินการตามความประสงค์ของผู้สมัคร ซึ่งเป็นการปฏิบัติอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้าน จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้อง(ผู้สมัครที่ไปร้องที่ศาลฎีกา)จะยื่นคำร้องเป็นคดีนี้  จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง"

สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 ที่บันทึกเจตนารมณ์ใว้ว่า เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนที่มีคุณสมบัติทุกคนจะมีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกได้ตามมาตรา 107 วรรคหนึ่ง    จึงได้บัญญัติคุ้มครองใว้ว่า   "...ในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้"

คำว่า "ความรู้" ที่บัญญัติในวรรคหนึ่งในมาตรานี้    มิได้หมายถึงความรู้ที่วัดได้ด้วยประกาศนียบัตรหรือปริญญาทั้งปวง   แต่หมายถึงความรู้ที่บุคคลมีอยู่จริง   ในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ในการทำนา ความรู้ในการประมง    หรือความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น   

เมื่อพิจารณาแล้วพอจะคเนได้ว่า สิทธิการรับสมัคร    เป็นคนละส่วนกับเอกสารสารรับสมัครเป็นเท็จ   หรือ เอกสารสารประกอบการสมัคร (สว.3) เป็นเท็จ เช่น ในใบ สว. 3 บอกว่าทำนาเกลือ   แต่ในความเป็นจริงเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ทำนาเกลือแต่อย่างใด   ลักษณะนี้จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นต้น 

กรณี เอกสารรับสมัครด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ    กกต. ต้องตรวจสอบผู้สมัครทุกรายทั้ง 4 หมื่นกว่าคน    ถ้าพบว่ามาสมัครด้วยการการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ     ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 74    รู้ว่าตนไม่มีสิทธิ    แต่ก็มาสมัครรับเลือกตั้ง 

และกรณีการรับจ้างสมัคร   แม้เอกสารการรับสมัครถูกต้องสมบูรณ์    แต่ถ้ารับจ้างมาสมัครก็เป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งด้วย