เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567  ณ หอประชุมโรงเรียนยางคำพิทยา ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายอภิชาติ ศิริสุนทร ได้มาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ชาวบ้านผลกระทบจากป่าสงวนแห่งชาติภูผาเหล็กทับซ้อนที่ดินทำกิน โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานราชการเข้าร่วมประกอบด้วย นายดุสิต ตาบ้านดู่ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้บ้านดุงสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) นายกิตติชัย คะอังกุล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการแทนผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พันจ่าเอกวันชัย พรมมาโอน ปลัดอำเภอแทนนายอำเภอวังสามหมอ นายสนธิ สีดากูด นายกเทศบาลผาสุก  โดยมีประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 300 คน

ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ. 2543 ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้าแผ้วถางป่า เพื่อครอบครองที่ดินทำกินในพื้นที่ในเขตบ้านสมสวัสดิ์ อ.วังสามหมอ “ภูผาเหล็ก” และได้ทำกินมาโดยตลอดและสืบทอดกันมา โดยมีเอกสารประกอบคือใบ ภบท.5 ยืนยันการเสียภาษี ซึ่งในขณะนั้นพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าสงวน แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ออกและไม่ให้ทำกินมาโดยตลอด แต่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมจึงใช้ทำกิน ซึ่งต่อมาทางจังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบะยาว ป่าหัวนาคำ ป่านายูง ป่าหนองกุงทับม้า ป่าหนองหญ้าไซ ในท้องที่ตำบลผาสุก อ.วังสามหมอ พื้นที่รวม 10,315 ไร่ (16.5 ตารางกิโลเมตร)

ต่อมาเมื่อ วันที่ 23 ธันวาคม 2552 ได้มีการประกาศเป็น “อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก” และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการให้ประชาชนในพื้นที่ออกจากเขตและได้มีการตัดต้นยางพาราของประชาชนบางส่วน โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สีแดง ชาวบ้านจึงยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีและหน่วยงานต่างๆ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายบัวยม สมพร ชาวบ้านสมสวัสดิ์ ต.ผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ตัวแทนชาวบ้านที่มายื่นร้องเรียน ได้กล่าวว่าวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะว่ายังไม่ได้รับคำตอบจากอุทยานฯว่าต้องคุยกันแบบไหนหรือยื่นเรื่องแบบไหน เนื่องจากพื้นที่สีแดงของผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการบุกรุกเขตอุทยานก็ยังต้องใช้ชีวิตและทำมาหากินต่อไปซึ่งทำมาตั้งแต่พ่อแต่แม่ เมื่อที่ดินจะมาถูกยึดทั้งที่ต้นยางพาราของตนปลูกมาได้20กว่าปี

"สำหรับการต่อสู้ในอนาคตก็ต้องไปตามขั้นตอน โดยเราก็จะต่อสู้ในนามกลุ่มสมัชชาคนจน แล้วก็จะไปร้องเรียนยังอุทยาน ไปร้องเรียนที่ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี และไปยังรัฐสภา" นายบัวยม กล่าว

ทั้งนี้หนังสือร้องเรียนของชาวบ้านมีข้อเสนอประกอบด้วย 1. กรณีการชี้แนวเขตอุทยานรุกล้ำทับที่ดินทำกินของราษฎร  ให้มีการเพิกถอนแนวเขตอุทยานที่ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร 2. ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย และ ให้สิทธิกับประชาชนในการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน  ในการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรโดยประชาชน 3. ให้ดำเนินการเปิดประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และสำรวจพื้นที่ร่วมกันกับประชาชน 4. ให้ประชาชนเข้าพื้นที่เก็บผลผลิตทุกแปลงที่ได้รับลกระทบ อย่างปกติสุขจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไขปัญหาจะสิ้นสุด

ด้าน นายอภิชาติ ศิริสุนทร กรรมาธิการฯ กล่าวว่า  ปัญหาภาพรวมในวันนี้หนักอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างอุทยานกับประชาชนซึ่งยังไม่เข้าใจแนวเขตที่ชัดเจน เวลาที่เขาไม่เข้าใจแนวเขตอะไรหรือว่าสงสัยในเรื่องสิทธิ์ของตัวเองอยู่ก็คงต้องตรวจสอบกันเป็นรายๆ ไป ซึ่ง กมธ.ก็เสนอแนะให้หัวหน้าอุทยานร่วมกับชาวบ้านที่มีปัญหาไปตรวจสอบเรื่องการใช้สิทธิ์

"กรรมาธิการจะนำข้อเสนอของพี่น้องและของอุทยานไปสรุป พอสรุปเสร็จก็จะส่งต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ส่วนประชุมก็คงจะให้อุทยานแห่งชาติคิดไว้พิจารณาแก้ไขตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด ซึ่งก็หมายถึงการตรวจสอบให้ไม่กระทบสิทธิ์พี่น้องประชาชน" นายอภิชาต กล่าว