จังหวัดชัยนาท ขับเคลื่อนกิจกรรมต่อยอดและขยายผลแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น ที่บ้านหนองมะนาว หมู่ที่ 15 ตำบลเนินขาม อำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เป็นประธานเปิดโครงการการขับเคลื่อนกิจกรรมต่อยอดและขยายผลการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  นายเทวิน ปิติพัทธ์พงศ์ นายอำเภอเนินขาม รายงานว่า อำเภอเนินขาม มี 3 ตำบล 48 หมู่บ้าน ดำเนินการกิจกรรมเส้นทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน จำนวน 48 เส้นทาง โดยมีผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการ ขยายผลดำเนินการสร้างคลังอาหารชุมชน ปลูกไม้ผล 2 ข้างทาง เช่น มะกรูด มะนาว กล้วย มะม่วง มะละกอ และปลูกผักสวนครัว พืชสมุนไพร โดยทำการคัดเลือก เส้นทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ที่ดีที่สุดของตำบล ได้แก่ 1) บ้านหนองลาด หมู่ที่ 8  ตำบลกะบกเตี้ย 2) บ้านหนองระกำ หมู่ที่ 6  ตำบลเนินขาม  3). บ้านสุขเดือนห้า หมู่ที่ 6 ตำบลสุขเดือนห้า ซึ่งอำเภอเนินขาม ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดชัยนาท เป็นพื้นที่เป้าหมาย ดำเนิน กิจกรรม “เส้นทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ปันสุข” ระดับจังหวัดชัยนาท ต่อยอดขยายผลการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2567 ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมและต่อยอดการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว, สร้างความมั่นคงทางอาหาร อย่างแพร่หลายทั่วถึงในทุกพื้นที่ และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับรู้ จนเกิดกระแสของการน้อมนำแนวพระราชดำริฯ สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอย่างทั่วถึงต่อไป  นายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรม “เส้นทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ปันสุข” ระดับจังหวัดชัยนาท ต้องยึดแนวทางการดำเนินงานจากแนวคิด 6 กระบวนงาน 1) ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง 2) ผู้นำต้องทำก่อน  3) ทีมนักพัฒนา 3 ประสานกลไกขับเคลื่อนปฏิบัติการ 4) ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร  ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน  5) ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น และ 6) ถอดรหัสชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ปันสุขสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีคลังอาหารชุมชนที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม และสาธารณชนได้รับรู้และน้อมนำแนวพระราชดำริฯ สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร