ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ชีวิตนอกคุกนั้นไร้อนาคตยิ่งกว่าในคุก อีกทั้งอนาคตในคุกก็มีคนกำหนดให้อย่างมั่นคงแน่นอน
คนไทยชอบเรียกฝรั่งตัวดำ ๆ ว่า “ไอ้มืด” ไทสันจึงมีชื่อเรียกตามปากของคนไทยว่า “ไอ้มืด” ไปด้วย แม้ว่าเขาจะเป็นแอฟริกันไม่ใช่อเมริกันนิโกร แต่ถ้าเพื่อนที่สนิทกันหน่อยก็จะเรียกเขาว่า “ไอ้เหนี่ยง” ซึ่งตอนแรกเขาคิดว่าเป็นไปตามชื่อของของกินอย่างหนึ่งของคนใต้ที่เรียกว่าลูกเหนียง แต่เอาเข้าจริง ๆ กลายเป็นว่ามาจากสำนวนไทยที่ว่า “ดำเป็นเหนี่ยง” แต่ใครจะเรียกชื่ออะไรกับเขาก็ได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งเรียกว่า “ไอ้ถ่าน” หรือ “ไอ้ตูดหมึก” ทั้งที่คำหลังนี้เป็นคำด่า แต่เขากลับถูกหลอกว่ามันแปลว่าสีของน้ำหมึกที่ดำปี๋นั้นไง
ไทสันชอบไปตลาดทุกคืน หลังเลิกงานที่โรงงานตอนค่ำๆ เขาก็จะออกไปกับหัวหน้ากับคนงานอื่น ๆ อีก 4-5 คน โดยซ้อนมอเตอร์ไซค์กันไป หัวหน้ากับคนอื่น ๆ ดื่มเหล้า แต่ไทสันไม่ดื่ม เพราะเป็นด้วยศาสนาที่เขายึดถือกันมาในครอบครัวห้ามไม่ให้ดื่ม หัวหน้าแนะนำเขากับคนอื่น ๆ ที่มาทักทายว่า เขาเป็น “บอดี้การ์ด” ของหัวหน้า คนเหล่านั้นก็เชื่อด้วยรูปร่างที่ใหญ่โตล่ำสัน ทั้งยังนั่งเงียบ ๆ ไม่พูดไม่คุยไม่ยิ้ม เพราะเพิ่งยังพูดไทยไม่ได้ แต่พอผ่านไปสองสามเดือนเขาก็กล้าคุยกับคนโน้นคนนี้บ้าง โดยเฉพาะกับเด็กเสิร์ฟและพ่อค้าแม่ค้า ไม่ถึงปีเขาก็พูดไทยได้คล่องจนสามารถ “จีบสาว” ได้ และนั่นก็นำมาสู่ “อนาคตใหม่” ของเขา อนาคตที่ทุกคนบอกว่า “มืดมน” แต่สำหรับเขาแล้วมันช่าง “สว่างไสว” ส่องนำทางให้เขาได้พบกับ “สวรรค์” ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็น “นรก”
“ลินดา” คือชื่อของหญิงสาวที่เหมือนจะมอบความเป็นมิตรให้เขาอย่างที่เขาไม่เคยได้รับจากใครหรือที่ใดมาก่อน ตั้งแต่เขาจำความได้ ชีวิตของเขามีแต่ความน่ากลัว ตั้งแต่ภัยสงครามรอบตัวในทุก ๆ วันที่บ้านเกิด ทุกฝีก้าวต้องคอยระวัง ไปไหนมาไหนก็ลำบาก เพราะมีการซุ่มยิง วางระเบิด และฆ่าฟันกันทั้งวันทั้งคืน จนพ่อแม่หาทางส่งเขามายังต่างประเทศเพื่อหนีภัยสงคราม แต่ก็ต้องมาเจอ “ทุพภิกขภัย” คือภัยอันเกิดจากความอดอยากแร้นแค้น เมื่อต้องไปทำงานในโรงงานนรกที่บังกลาเทศอยู่ 5 ปี ทั้งนายจ้างยังทารุณโหดร้าย สถานที่กินนอนก็แย่อย่างกับกรงขังสัตว์รอเอาไปฆ่า แม้ว่าเมื่อมาอยู่ประเทศไทย ได้ทำงานในโรงงานปลากระป๋องแห่งนี้ แม้จะเหนื่อยยากลำบากเพราะงานหนักและไม่ได้รับค่าจ้าง (เพราะนายจ้างอ้างว่าไปซื้อตัวมาจากโรงงานนรกที่บังกลาเทศนั้น) แต่ก็ยังได้พบปะผู้คนอื่น ๆ บ้าง รวมถึงอาหารการกินก็ดีกว่าเดิม เพราะได้ไปกินอาหารที่ตลาดและบางทีหัวหน้าก็ให้เขาไปซื้ออะไรอร่อย ๆ มากิน แต่ที่ “ดีที่สุด” ก็คือ “มิตรภาพ” ที่เขาไม่เคยคิดว่าจะมีอยู่จริงบนโลกนี้ อย่างที่เพื่อน ๆ ในโรงงานหลายคน และคนสวยอย่าง “ลินดา” มอบให้กับเขา
ลินดาน่าจะมีอายุมากกว่าเขาหลายปี ตอนนั้นเขาเริ่มเป็นหนุ่มอายุย่าง 18 ปี และมาอยู่ที่สุราษฎรธานีได้ 3 ปีพอดี ลินดาเคยทำงานที่พัทยาและเป็นเมียฝรั่งแบบที่เรียกว่า “เมียเช่า” ครั้งหนึ่งมาเที่ยวเกาะสมุยกับสามีฝรั่ง เกิดชอบใจบรรยากาศเลยมาหาซื้อบ้านอยู่บนเกาะนั้นโดยใช้ชื่อของเธอ ต่อมาสามีต้องกลับไปบ้านที่ยุโรปและไม่ได้กลับมาอีก เธอจึงขายบ้านที่เกาะสมุยและขึ้นบกมาอยู่ที่บ้านดอน ทำมาหากินอะไรก็ไม่แน่ชัด บ้างก็ว่าเธอมาเป็นเมียน้อยคนหนึ่งของ “อาโก” (ชื่อเรียกพี่ชายของคนจีนไหหลำรวมถึงคนในระดับเศรษฐีและผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ทางภาคใต้) บ้างก็ว่าเธอใช้เส้นสายของอาโกคนนั้น “ขายของในตลาดมืด” ที่เป็นแหล่งรายได้มหึมา จนที่สุดก็สร้างเครือข่ายขึ้นมาคู่ขนานกันกับ “ตลาดสว่าง” ของอาโกของเธอ
เธอพบไทสันในร้านเหล้าแห่งหนึ่ง ที่บังเอิญเธอได้ไปเที่ยวและเหมือนว่าจะรู้จักกับหัวหน้าของไทสันด้วย เขาไม่รู้ว่าเธอกระซิบพูดอะไรกับหัวหน้า แต่พอสัปดาห์ต่อมาเขาก็ถูกหัวหน้าพาตัวไปหาเธอ แล้วบอกว่าให้อยู่กับลินดาต่อไป โดยบอกว่าให้เขามาเป็น “บอดี้การ์ด” ให้กับลินดา เธอพาเขาไปในที่ต่าง ๆ ทุกวัน โดยให้นั่งหน้ารถคู่ไปกับคนรถ สถานที่บางแห่งที่ไปก็อยู่ในซอกซอยมืด ๆ แต่พอเข้าไปในบ้านแล้วก็มีแสงสว่างไสว มีโต๊ะเก้าอี้มากมาย มีสาว ๆ นั่งอยู่นับสิบคน กับผู้ชายหลากหลายอายุอีกจำนวนพอ ๆ กัน ตลอดเวลาจะมีการจับคู่กันหายไปยังห้องด้านหลัง บ้างก็แค่มานั่งดื่มและซื้อ “ดริงก์” ให้สาว ๆ ซึ่งเขามารู้ทีหลังว่าที่แบบนั่นคือ “ซ่อง” ซึ่ง “เจ๊ลินดา” มีอยู่หลายแห่ง และทุกแห่งจะมีคนมาใช้บริการ “พี้” คือสูบกัญชา จนถึงขั้น “อึด” คือสูบเฮโรอีนนั้นด้วย ส่วนไทสันก็ได้ประสบการณ์ “ขึ้นครู” ที่นี่ โดยที่ลินดาเป็นผู้แนะนำ ซึ่งต่อมาเขาก็จึงมารู้ว่าลินดาต้องการใช้งานบางอย่างจากเขา ที่ตอนแรกเขาคิดว่าคงจะแค่เพื่อ “กามารมณ์” ของเธอ แต่ภายหลังจึงรู้ว่าเธอต้องการให้เขาช่วยทำ “ธุรกิจ” ที่กว้างไกลกว่านั้น
อย่างที่รู้ ๆ กันไทสันเกิดและเติบโตมาในประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศสจนอายุ 10 ขวบ จากนั้นมาอยู่ในโรงงานนรกที่บังกลาเทศอีก 5 ปี ซึ่งที่นั่นพูดภาษาอังกฤษกันด้วย แล้วพอมาอยู่เมืองไทยก็ยังได้ภาษาไทยอีก รวมถึงภาษาลาว เขมร และพม่า ที่ได้จากพวกคนงานด้วยกัน จนสามารถที่จะเข้าใจและสื่อสารกันได้พอสมควร แต่พอเขาติดตามลินดาไปในที่ต่าง ๆ ทั้งที่สมุย ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา และกรุงเทพฯ ก็ได้ใช้เจอฝรั่งบางชาติ ที่เขาก็ได้ใช้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษนั้นด้วย เขาจึงค่อย ๆ เข้าใจว่า แท้จริงนั้นลินดากำลัง “ใช้งาน” เขาในการทำ “ธุรกิจมืด” อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “ยาเสพติด”
เขาเข้าไปใน “วงการยา” เพียง 2 ปี ก็ได้เรียนรู้ว่าเป็นงานที่ซื้อง่ายขายคล่องมาก ๆ “เจ้าหน้าที่คนไทย” เป็นมิตรกับเขามาก ๆ และอาจจะยิ่งกว่าลินดาที่เป็นผู้อุปการะเขาอยู่เสียอีก เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นทั้งผู้วางแผน ผู้จัดการ ผู้ชี้แนะ และ “ผู้แก้ปัญหา” ให้กับธุรกิจของเขากับลินดา เหมือนกับว่าเป็นเจ้าของกิจการเหล่านั้นทั้งหมดด้วยตนเอง แต่ลินดาเองที่เป็นผู้เฉลยสาเหตุ คำตอบที่ลินดาบอกกับเขาก็คือ “เจ้าหน้าที่ต้องเลี้ยงธุรกิจแบบนี้ไว้ เพื่อไว้เลี้ยงตัวเจ้าหน้าที่และบริวารกับครอบครัวทั้งหลายของเจ้าหน้าที่นั้น” แบบว่ายิ่งท้องที่ใดมีธุรกิจมืดมาก ๆ ก็จะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่ไปอยู่ในท้องที่นั้นร่ำรวยและกินดีอยู่ดีมาก ๆ จนถึงขั้นมีการซื้อตำแหน่งเข้าไปอยู่ในท้องที่นั้นด้วยเงินจำนวนมาก หรือบางแห่งที่มีธุรกิจพวกนี้อยู่แล้วแต่ไม่มาก เจ้าหน้าที่ที่มีกฎหมายในมือนั่นแหละที่สร้างหรือส่งเสริมให้มีธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น ๆ รวมถึงอย่าไปหวังว่าธุรกิจชั่ว ๆ เหล่านี้จะถูกกำจัดให้หมดไป เพราะถ้าหมดไปเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่ชั่ว ๆ พวกนั้นก็ “หมดชีวิต” ไปด้วย
ไทสันไม่ได้เชื่อหรอกว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้น “ทำชั่ว” เพราะถ้ามองในมุมชีวิตที่ผ่านมาที่เขาได้พบแต่เรื่องที่ร้าย ๆ สุด ๆ เขาก็คิดได้แต่ว่านั่นคือ “ทำเพื่อความอยู่รอด” มากกว่า