ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“โลกในทุกวันนี้..เต็มไปด้วยความอึกทึกแห่งสรรพเสียงอันเป็นพิษ  มันคือสิ่งที่รุกรานจิตใจ..และไร้ระเบียบต่อการสดับรับฟัง..เป็นห่วงโซ่ของความสกปรกโสมมนานัปการ ที่โลกต้องทนแบกรับมูลขยะนี้ไว้..ด้วยจิตวิญญาณที่อ่อนล้าและแตกสลาย..

ความสุขสงบภายในตัวตนของโครงสร้างชีวิต..ล้วนถูกกลบกลืนด้วยเสียงอันดังจากสถานการณ์อุบาทว์ กระทั่งไม่สามารถสดับยิน..สรรพเสียงอันเป็นสัญญะนานา...ในนามแห่งชีวิตของโลกได้..”

ต้นเค้าแห่งความคิดข้างต้น..คือความหมายด้านลึกของหนังสืออันมีค่าต่อการสืบค้นและสัมผัสอย่างจริงจังเล่มหนึ่ง ณ เวลานี้.. “เมื่อโลกเสียงดังเกินไป” (Calm in the Chaos) ผลงานสร้างสรรค์แห่งสำนึกคิดของ “รวิศ หาญอุตสาหะ” ที่เน้นย้ำถึงการค้นพบ ความสงบในความวุ่นวาย..ค้นพบพลังในวิกฤตท้าทาย...และที่สำคัญ..คือการหมดหวัง..ในความเป็นมนุษย์..

“เมื่อวัน เวลาบนโลกนี้ของเราใกล้หมดลง เราอยากเก็บประสบการณ์ของความทรงจำดีๆ...วันที่ได้เดินปล่อยใจกับสายลมแสงแดด วันที่ได้เดินบนชายหาด ดูทะเลแบบไม่คิดอะไร ...วันที่ได้หัวเราะอย่างเต็มที่ วันที่ได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อยจะริงๆแบบไม่มีการแจ้งเตือนมารบกวน..เราน่าจะอยากเก็บประสบการณ์บนโลกของเราแบบนี้น..ใช่ไหม?..แล้ววันนี้..เราได้ทำแบบนั้นแล้วหรือยัง???...”

ก่อนที่ชีวิตจะพานพบและตระหนักถึงเสียงอันดังของโลก...เราอาจจะต้องก้าวข้ามผ่านสิ่งที่กำลังท่วมท้นล้นเกินความรู้สึกอันเป็นสามัญวิถีให้ได้เสียก่อน..ชีวิตทุกๆชีวิตมักเลี่ยงหลีกจากความเหนื่อยล้าไปไม่พ้น..มันเป็นสิ่งที่ยากที่จะจัดการให้สมดุลได้..

ชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่มักเครียดบ้าง เหนื่อยบ้างเป็นประจำอยู่แล้ว...โดยเราจะพบสัญญาณเตือนในหลายรูปแบบ ที่ร่างกายพยายามจะบอกต่อเราอีกที..ดังเช่น..ร่างกายและจิตใจเหนื่อยล้ามาก แต่พอล้มตัวลงนอนกลับนอนไม่หลับ../ตื่นตอนเช้าไม่อยากลุกออกจากเตียง แรงจูงใจในการตื่นขึ้นมาใช้ชีวิต..ดูจะหายไปดื้อๆ/อารมณ์เสียกับเรื่องเล็กน้อย หรือรำคาญสิ่งรอบตัวไปหมด/รู้สึกไม่ยินดียินร้ายกับเหตุการณ์ต่างๆ หรือแม้แต่กับคนรอบข้าง/หรือ ..กิจกรรมที่เคยทำแล้วมีความสุข บัดนี้ทำแล้วกลับไม่มีความสุขเหมือนเคย/ฯลฯ..

มีคนจำนวนมากในวันนี้ที่มักจะเป็นเช่นนี้ แต่กลับไม่ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง..จริงๆแล้วเราต้องจัดการโดยการค้นหาสาเหตุของมัน.. “ความเหนื่อยล้า” โดยเฉพาะทางอารมณ์ของเรา อาจจะเกิดขึ้นได้เพราะหลายสาเหตุ..นับแต่จากข่าวสาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยข่าวร้าย ชวนให้หดหู่ การเสพข่าวในลักษณะนี้มากเกินไป จะทำให้ต้องเหนื่อยมากเช่นกัน../ประเด็นของการเปรียบเทียบ:โลกสมัยนี้ทำให้เราชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา/มาตรฐานทางสังคม:หากสังคมที่เราอยู่มีมาตรฐานมากมายที่ทำให้รู้สึกว่า .เราต้องทำตาม..ครั้นพอทำไม่ได้เราก็จะรู้สึกเหนื่อย ./ความคาดหวัง/ไม่ว่าความคาดหวังนั้น จะมาจากตัวเราเองหรือคนอื่นก็ตาม/..ความอิจฉาริษยาซึ่งบางทีก็มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว/ความเหงา:หลายคนไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้สักเท่าไร แต่มันคือสิ่งที่กัดกินหัวใจของเราอย่างช้าๆ_/และ..ปริมาณงานที่เยอะเกินไป อันนี้คือความเหนื่อยแบบที่ไม่ต้องอธิบาย แต่คนเราย่อมเข้าใจดี..ฯลฯ..

“จริงๆแล้ว..มนุษย์เราทุกคน..มีความสามารถในการจัดการกับเรื่องพวกนี้แตกต่างกันออกไป..เรื่องที่จะกระทบจิตใจใครบางคนก็อาจไม่ส่งผลกระทบกับอีกคนเลยก็ได้..เราจึงจำเป็นต้องสำรวจตัวเอง ..เพื่อที่จะหาเหตุเฉพาะของเรา”

บทเรียนอันล้ำค่าอีกบทหนึ่งซึ่งชีวิต..ควรตรึกตรองในทุกเมื่อ  ก็คือบทเรียนจากภายในอก “รวิศ” ได้ชวนให้ทุกคนนึกย้อนกลับไปในชีวิต โดยให้ทบทวนดูว่า “เสียงภายในอก” นั้นส่งอิทธิพลต่อเรามากแค่ไหน? ..ไม่ว่าจะเป็นเสียงของ พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนนำฝูง คนรัก..หรือแม้แต่ “ป้าข้างบ้าน” เสียงต่างๆเหล่านี้ได้นำพาเราไปยังที่ใดบ้าง..เสียงเหล่านั้นไม่ได้นำความผิดมาสู่เราแต่อย่างใด..แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราต่างอยู่ในบริบทแบบไหน?..ส่วนใหญ่แล้วเสียงเหล่านี้ค่อนข้างจะพูดถูกเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ และมีอีกหลายครั้ง ที่มันเกิดขึ้นจากความปรารถนาดีอย่างจริงใจ และอีกหลายครั้ง..ก็เชื่อได้เหมือนกันว่า..มันอาจจะผิดได้เช่นกัน ..

สิ่งสำคัญที่เราต้องรู้เกี่ยวกับเสียงภายนอกก็คือ..ในตอนที่เราได้ยินนั้น..มันยากมากที่จะบอกว่ามันผิดหรือถูก..แต่ถ้าเราเรารู้สึกได้ว่าเสียงภายนอกเหล่านั้นขัดกับสิ่งที่เราอยากทำมากเหลือเกิน..ดั่งนี้..เราจึงสมควรที่จะทำในสิ่งที่เราอยากทำ .นั่นย่อมหมายถึง “ตัวของเราเอง"..หาใช่เจ้าของเสียงภายนอกคนไหน ..

นอกจากจะรู้จักกับเสียงภายนอกแล้ว เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักกับ “เสียงภายใน” อันหมายถึง “เสียงในหัวหรือความคิดของเรา” ซึ่งมันไม่ใช่ตัวเรา...เหตุนี้เวลาที่เราได้ยินเสียงในหัว..  “ความคิดในหัว” จึงขอให้อย่าเพิ่งเชื่อ..ขอให้ตั้งคำถามกับความคิดในหัวเราเสมอ ..ความน่ากลัวของ “เสียงในหัว” อยู่ที่ตอนแรก มันจะเหมือนจริงมาก เราก็จะคล้อยตามมันไป..แต่ถ้าได้พิจารณาอย่างดีแล้ว ก็จะพบว่าเสียงในหัวที่พูดกับเรานั้น หลายๆครั้งมันไม่จริงเลย

“เรื่องราวลักษณะนี้สร้างหายนะมาให้ผู้คนมากมายนัก ..ขอให้เราตั้งคำถามกับมันก่อน  เนื่องเพราะ..ทั้งเสียงภายนอกและเสียงภายใน ล้วนมีอิทธิพลกับชีวิตเราเสมอ ...ดังนั้น จงใช้มันด้วยความระมัดระวังพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด...ในที่สุด..”

ทั้งด้านนอกและด้านในของชีวิตล้วนมีเสียงอันดัง ตามบริบทแห่งสถานการณ์ของมัน..ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสัญญะเชิงเปรียบ..ที่เราจำเป็นต้องแตกฉานและเข้าใจทั้งปรากฏการณ์และวิกฤตการณ์แห่งยุคสมัย...เหตุนี้การสังเกตชีวิตและใช้ชีวิตใช้อย่างมีจุดหมายในวันนี้มันจึงเป็นสิ่งที่ทั้งมีค่าและควรค่ายิ่ง..โดยเมื่อเราเลิกใช้เวลาอย่างไม่มีจุดหมาย แล้วเปลี่ยนตัวเอง และกลับมาให้เวลากับสิ่งสำคัญในชีวิตอย่างแท้จริง..เพราะตามความจริงแล้ว"เรามีเวลาให้สิ่งสำคัญในชีวิตเสมอ

แม้หลายคนจะบอกว่า..วันนี้ไม่มีเวลาวิ่งออกกำลังกาย แต่ถ้ามีคนบอกว่า.. “วันนี้คุณวิ่งได้ 20 กิโลเมตร รับเงินไปเลยหนึ่งล้านบาท ก็เชื่อว่าทุกคนจะทิ้งทุกอย่างที่ทำอยู่แล้วมาวิ่งให้ได้..”

“รวิศ” ...เป็นนักสังเกตการณ์ในเชิงปฏิบัติ เขาเจาะลึกและเข้าใจในสัญชาตญาณของคน...จนบังเกิดผลสรุปออกมาได้.. ดังนั้นเราจึงไม่เคย ไม่มีเวลาหรอก..ในตอนที่เราบอกว่าไม่มีเวลาทำเรื่องไหน..นั่นแปลว่า..เรายังไม่เห็นเรื่องนั้นสำคัญต่างหาก

“รวิศ” ได้แบ่งปันเรื่องราวจากหนังสือ “Tranquility by Tuesday” ที่ว่าด้วยกฎ 9 ข้อ ของการจัดเรื่องสำคัญในชีวิต.. “ลอรา แวนเดอแคม” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้สรุปกฎ 9 ข้อเพื่อเปลี่ยน “พฤติกรรม” ในการบริหารจัดการเวลาของคนในแต่ละวันให้มีจุดมุ่งหมายมากขึ้น เพราะเมื่อเรารู้ว่า สิ่งใดที่สำคัญต่อชีวิตของตัวเองแล้ว...เราก็ย่อมจะหาเวลาเพื่อสิ่งนั้นได้เสมอ

เราต้องกำหนดเวลานอนให้ชัดเจน เพื่อเตือนตัวเองให้หยุดทำกิจกรรมต่างๆและพักผ่อนจริงๆซึ่งจะช่วยให้ร่างกายเติมพลังบวก สำหรับการเริ่มต้นวันใหม่ได้มากขึ้น/การวางแผนทุกวันศุกร์..คือหลังจากกลับบ้านในทุกวันศุกร์แล้ว อย่าลืมแบ่งเวลาสำหรับการวางแผนชีวิตในสัปดาห์ต่อไปด้วย/ยืดเหยียดร่างกายก่อนบ่ายสาม..ช่วงบ่ายสามเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่รู้สึกเฉื่อยชาในการทำงานมากที่สุด จึงเป็นเวลาที่เราสมควรลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายหรือออกกำลังกาย/สร้างนิสัยที่ดี 3 ครั้งต่อสัปดาห์..ในหนึ่งสัปดาห์มี 168 ชั่วโมง หากเราทำงาน 40 ชั่วโมง และนอนวันละ 8 ชั่วโมง..จะมีเวลาอีก 72 ชั่วโมง สำหรับการสร้างสิ่งสำคัญในชีวิต และการใช้เวลาที่เหลือในการทำกิจกรรมอื่นๆอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์จะช่วยให้เราสร้างนิสัยที่ดีให้เกิดขึ้นต่อไปอย่างสม่ำเสมอ../จัดตารางเวลาสำรอง..บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนเสมอไป..การวางแผนตารางที่ยืดหยุ่น ทำให้เราสามารถรับมือ และจัดลำดับความสำคัญของงานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว../*แบ่งเวลาเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ..ให้ใช้เวลาว่างในการทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ และสร้างความทรงจำที่ดีเพิ่มขึ้นในชีวิต../มีค่ำคืนพิเศษสำหรับตัวเอง..เพื่อให้ตัวเองได้ผ่อนคลายจากภาระหน้าที่ และยังช่วยเติมพลังใจสำหรับใช้ชีวิตในวันต่อๆไป../รวมงานยิบย่อยไว้ด้วยกัน....แล้วกำหนดเวลาทำงานนั้นให้เสร็จเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถแบ่งเวลาและสมาธิให้กับการทำงานที่ชิ้นใหญ่กว่าได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีงานยิบย่อยเข้ามารบกวนในระหว่างวัน../ต้องทำงานยากก่อนงานสบาย..และใช้งานที่ง่ายและถนัดเป็นแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นตัวเองให้ทำงานที่ยากนั้นให้สำเร็จ..

กฎทั้ง 9 ข้อนี้..ไม่ได้บอกให้เราจัดสรรเฉพาะเวลางานเท่านั้น..แต่ยังมีเวลาพักผ่อนและเวลาว่างสำหรับฝึกทักษะหรือหาประสบการณ์ใหม่ๆให้กับตัวเองอีกด้วย..! ที่สุดแล้ว..ความเป็นชีวิตของเราจะดังจะค่อยอย่างไรเพียงไหนก็ต้องแกนวัดมาตรฐานของมัน..อันหมายถึงตัววัดชีวิตซึ่งมีอยู่ 4 แกนหลัก...มาตรวัดนี้จะช่วยให้เราสามารถรักษา “สมดุล” ระหว่างแกนหลัก 4 แกนนี้ได้ ..

แกนที่ 1 ได้แก่สุขภาพ...อันถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าสุขภาพไม่ดีเสียแล้ว อะไรอย่างอื่นจะดีแค่ไหน..เราก็คงมีความสุขไม่ได้..เพราะในด้านสุขภาพ ถ้าไม่นับ"ความเจ็บป่วย"ตามกรรมพันธุ์แล้ว ที่เหลือย่อมเป็นเรื่องที่เราสามารถดูแลตัวเองได้ ...การดูแลสุขภาพไม่ใช่เรื่องยาก ขอแค่เรามีความเข้าใจว่าทำไปทำไม..ทำไม..และมันส่งผลต่อสุขภาพของชีวิตอย่างไร..เพียงเท่านี้สุขภาพที่ดีย่อมเป็นไปได้อย่างแน่นอน..

แกนที่ 2 งาน...เป็นแกนที่น่ากลัวที่สุด เพราะมันมีโอกาสที่จะทำให้เราเสียสมดุลได้ง่าย และยังจะทำให้แกนอื่นพังไปด้วย เราจึงต้องระวังในเรื่อง"งาน" เพราะสำหรับคนส่วนใหญ่ เรื่องนี้เมื่อทำแล้วจะเห็นผลเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ..ดังนั้นคนส่วนมากจึงเกิดความเอนเอียงไปที่งานหรือเทน้ำหนักให้แก่มันมากจนเกินควร... “เราทุ่มเทกับงานได้ แต่ต้องระวังอย่าให้มันไปกระทบกับเรื่องอื่น เพราะชีวิตเรามีคุณค่ามากกว่า..”

แกนที่ 3...ความสัมพันธ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ส่งผฃต่อสุขภาพของมนุษย์มากที่สุด..ส่งผลต่อความสุขของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน..และยิ่งเมื่อชีวิตของมนุษย์เราสามารถอยู่ได้แค่ 4,000 สัปดาห์เท่านั้น..เวลาในการทำอะไรกับคนที่เรารัก จึงไม่ได้มีมากมายอย่างที่เราคิด.. เมื่อคิดดูดีๆ..ชีวิตของคนเราถ้าไม่นับตอนเด็ก..บางคนอาจได้กินข้าวกับพ่อแม่แค่ไม่กี่ร้อยมื้อเอง..ซึ่งมันไม่มากเลย..เหตุนี้ แกนความสัมพันธ์ จึงเป็นแกนที่บอบบางมาก และ การรักษาสมดุลก็ต้องอาศัยความพยายามอย่างมากเป็นพิเศษ เพราะว่าเราไม่สามารถทำเรื่องนี้คนเดียวได้..ด้วยเหตุนี้..เมื่อไหร่ที่เรามีโอกาสทำได้..เราต้องทำ..

แกนที่ 4 จิตวิญญาณ..การเดินทางท่องโลกภายนอกและโลกภายใน ทำให้เราเข้าถึงในเรื่องของจิตวิญญาณมากขึ้น..ซึ่งกิจกรรมที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติจะช่วยเรื่องนี้ได้ดี ..เพียงแต่เราต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวันเท่านั้น..มีตัวอย่างในสาระบทบาทแห่งบุคคลอีกมากมายที่"รวิศ"นำมาเล่าขานอย่างพินิจพิเคราะห์..ชี้ให้เห็นสรรพเสียงอันดังทางความคิด

ณ ขณะที่โลกกำลังอลหม่านและอื้ออึงไปด้วยเสียงอันใดจากทั้งภายนอกและภายในผ่านปริศนาแห่งข้อสงสัยของโลกและสรรพชีวิตนานา.. “ความสามารถในการ มองเห็นว่าอะไรคือเรื่องเล็ก อะไรคือเครื่องใหญ่..คือสุดยอดเคล็ดลับในการทำงานและการใช้ชีวิต..เพียงแต่เราต้องแน่ใจจริงๆว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่อวเล็ก..หาไม่แล้ว..คุณอาจจะพบกับหายนะ .อย่างไม่อาจแก้ไขและกู้คืนได้เลย”

“เมื่อโลกเสียงดังเกินไป” (Calm in the Chaos ) คือหนังสือก้าวหน้าที่สื่อถึง “ประจักษ์ความคิด” สู่คนรุ่นใหม่ได้อย่างถึงแก่นด้วยนัยเรื่องราวและข้อคิด..ในประเด็นที่ย้ำเตือนถึงความเป็นมนุษย์ รวมไปถึง..ความแตกต่งมากมายที่แบ่งแยกเรา...มีเสียงแจ้งเตือนสั้นๆ แต่กลับทำให้จิตใจปั่นป่วนยาวนาน มันทั้งรบเร้าและเรียกร้องให้เราสนใจ จนต้องแรงที่มีเพียงน้อยนิดเปิดมันขึ้นมา และโดยไม่รู้ตัวเสียง “Notification” ก็แทนที่ทุกอย่าง..จนเราไม่ได้ยินเสียงกระซิบแผ่วเบาจ้างในตัวเอง..

“จงปิดเสียงแจ้งเตือนจากภายในอก..และเปิดเสียงความเงียบจากภายใน..ไปกับบทสรุปทางความคิดที่ว่าด้วยความยุ่งเหยิง..กึกก้อง     ..เพราะ “เมื่อโลกเสียงดังเกินไป..” ก็ต้องกลบความสงบในใจ..จนแม้แต่ตัวเราเองยังไม่ได้ยิน..!!”