นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภาพรวมการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ผ่านระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ว่า การแก้ไขปัญหาเส้นเลือดฝอยที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนกรุงเทพฯ คือหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์ม ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเป็นสื่อกลางการแก้ปัญหา ปัจจุบันมียอดประชาชนแจ้งแก้ปัญหา 588,842 เรื่อง สามารถแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว 465,291 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 79 ของจำนวนเรื่องที่แจ้งทั้งหมด ส่วนใหญ่แจ้งปัญหาเกี่ยวกับถนน 201,355 เรื่อง รองลงมาทางเท้า 84,095 เรื่อง ความปลอดภัย 61,044 เรื่อง แสงสว่าง 57,162 เรื่อง และ ความสะอาด 52,225 เรื่อง

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เฉพาะปีที่ 2 มีการแจ้งปัญหาเข้ามาแล้ว 345,975 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีแรก 1.5 เท่า โดยหลังจากรับเรื่องร้อภงเรียนแล้วสามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น 31 เท่า หรือใช้เวลาแก้ปัญหาเพียง 2 วันเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานถึง 57 วัน ขณะที่เวลาการรับเรื่องเร็วขึ้น 6.7 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลารับเรื่องนานถึง 32 วัน ส่งผลให้แนวโน้มความพึงพอใจจากประชาชนดีขึ้น อยู่ที่ 4.11 เต็ม 5 ทำให้วันนี้ปัญหาเส้นเลือดฝอยของคนกรุงเทพฯ ทุเลาเบาบางลง

 

สำหรับจุดแข็งของทราฟฟี่ฟองดูว์ มี 4 อย่าง ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนจากระบบเดิม เช่น การส่งจดหมายมาถึงผู้ว่าฯกทม.จะถึงมือของผู้ว่าฯกทม.ไหม หรือโทรศัพท์มีสายเพียงพอหรือไม่ มาเป็นระบบแพลทฟอร์ม ทำให้ข้อจำกัดในอดีตหมดไป  2.ไม่มีแรงเสียดทาน ในอดีตต้องโทรมาในช่วงเวลาราชการ แต่ระบบแพลทฟอร์ม ไม่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา สามารถแจ้งได้ ตลอด 24 ชม. ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีการแจ้งในช่วงเวลานอกราชการและหลังเลิกงาน เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 เท่า หรือคิดเป็น 345,975 เรื่อง

 

3.ขยายได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะระบบแพลทฟอร์มมีพื้นที่ไม่จำกัด สามารถรับเรื่องได้มากปัจจุบันมีมากกว่า 500,000 เรื่อง โดยไม่ต้องจ้างโอเปอเรเตอร์เพิ่มเพราะคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีไม่มีข้อจำกัด และ 4.มีฟีดแบค เพราะได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถคอมเมนต์ได้ว่าดีไม่ดี ในอดีตการร้องเรียนเป็นการสื่อสารทางเดียวแต่ระบบแพลตฟอร์มนี้ เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารสองทาง เพื่อจะได้ทราบว่า สิ่งที่ดำเนินการไปนั้นดีหรือไม่

 

สำหรับปัญหาในการแก้ปัญหา ยังคงเป็นการแก้ปัญหาเป็นการชั่วคราวไม่ใช่ถาวร การแก้ปัญหาไม่ต่อเนื่อง และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกทม.โดยตรงจะเป็นหน่วยงานที่ส่งต่อให้ดำเนินการ

 

ส่วนแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานในอนาคตว่า จะนำเอาฟีดแบคที่ได้รับทั้งหมดมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ปัจจุบันได้ ตั้งทีมงานที่คอย Monitor สำรวจการทำงานของเขตทุกเช้า และได้สั่งการให้รองปลัดกทม. นำปัญหาต่าง ๆ มาปรับปรุงการทำงาน เพราะบางเรื่องต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงานให้ดีขึ้น และให้เจ้าหน้าที่ได้มีทรัพยากรในการทำงานแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาโดยใช้ทราฟฟี่ ฟองดูว์ คือการเป็น Smart City ตัวจริง เป็นการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม การให้ประชาชนเป็นเซ็นเซอร์สำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ทซิตี้ ในการส่งข้อมูลให้กทม. เป็นหัวใจของ Empower หรือการให้อำนาจประชาชน หน้าที่ กทม.คือต้องแก้ปัญหาที่ประชาชนแจ้งมาอย่างจริงจัง