"นายกฯ" ลั่นไม่กังวล "สมชาย" ชวดเก้าอี้ สว. ยันไม่ขอก้าวก่ายผลเลือกสว. หลังพบกลุ่ม “บ้านใหญ่” ผ่านเพียบ! "สนธิญา" ร้อง“อสส.”ส่งศาลรธน.ตีความเลือกสว.ขัดกม. สั่งโมฆะ ยันไม่ใช่แพ้ชวนตี ด้าน"สว.สมชาย" แชร์พิรุธบล็อกโหวตเลือกโพยเดียวกัน ขณะที่”ทักษิณ”ส่งทนายฟ้อง”หมอวรงค์”เรียก 100 ล้าน ข้อหาหมิ่นฯ ปมถุงขนม 2 พันล้าน

 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรณีคนดังตกรอบ อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับตำแหน่งเป็นประธานวุฒิสภา กังวลหรือไม่ ว่า ตนไม่ได้มีความกังวลเพราะอยู่ฝ่ายบริหาร และไม่ก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ หากในอนาคตฝ่ายนิติบัญญัติ มีข้อสงสัย ข้อกังวล หรือข้อซักถาม ตนก็ยินดีที่จะตอบไม่ว่าใครจะได้รับเลือกก็ตาม
 
สำหรับที่มีการมองว่าเป็นกลุ่มบ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัดได้รับเลือกเป็นสว.นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เคยมองอะไรทั้งสิ้น ย้ำว่าตนอยู่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีหน้าที่ เป็นหน้าที่ของเขาไปหากได้รับการรับเลือกมาแล้ว ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. และได้ดำรงตำแหน่งแล้ว และเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ หากมีข้อสงสัยหรือข้อเคลือบแคลงใจ ก็พร้อมจะตอบ

 ทั้งนี้ หากในอนาคตเกิดการร้องเรียนและทำให้กระบวนการได้มาซึ่งเลือกสว.ล่าช้า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามกลไกของการตรวจสอบ ต้องให้ความเป็นธรรม กับทุกฝ่าย กับผู้ที่ได้รับเลือกหรือได้สำรอง หรือคนที่ตกรอบไป ส่วนมั่นใจหรือไม่ว่าจะได้ ส.ว. ตามกรอบเวลา 2 ก.ค. ที่ กกต.กำหนดไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบขั้นตอนตรงนี้ แต่เชื่อว่า ระบบทั้งหลาย ถูกคิดมาดีแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บุคคลที่มีชื่อเสียงตกรอบเลือก สว.ระดับประเทศแบบ “พลิกล็อค” พลาดนั่งเก้าอี้อย่าง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และน้องเขย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เพียง 10 คะแนน ไม่เพียงพอที่จะเป็น สว.ชุดใหม่ และไม่ติดแม้แต่ตัวสำรอง ทั้งที่ตอนแรกหลายฝ่ายคาดหมายว่าถูกวางตัวไว้เป็นประธานวุฒิสภา เช่นเดียวกับ นายศรีเมือง เจริญศิริ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน เคยมีบทบาทสูงในวุฒิสภาปี 2543 โดยว่ากันว่าเป็นมือประสานระหว่าง สว.กับรัฐบาลนายทักษิณ แต่กลับไม่ได้เป็นสว.ตัวจริง ติดแค่อันดับสำรองเท่านั้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีกระแสว่า จะวางตัวนายศรีเมือง เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ประกบนายสมชาย ที่ถูกวางตัวเป็นประธานวุฒิสภา
 
นอกจากนี้ ในจำนวน สว.ทั้ง 200 คน พบว่า มีบุคคลที่เป็นเครือข่ายนักการเมืองในอดีต และปัจจุบัน เครือข่าย “บ้านใหญ่” ตามจังหวัดต่าง ๆ ผ่านเข้ามาจำนวนมากด้วยเช่นกัน

 ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภามาเลเซีย ระหว่างวันที่ 25-27 มิ.ย. กล่าวถึงผลการคัดเลือก สว. 200 คน ว่า เมื่อได้สว. 200 คนแล้ว เชื่อว่าคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)จะสามารถประกาศรายชื่อทั้งหมดได้ตามที่ประกาศไว้คือวันที่ 2 ก.ค. และหากพบการกระทำผิด ก็เชื่อว่ากกต.จะมีการสอยในภายหลังได้ อย่างไรก็ตามคิดว่าคนที่กระทำผิดส่วนใหญ่อาจเป็นคนที่ไม่ได้รับเลือกก็ได้แต่คนที่ได้รับเลือกแล้วทำผิดก็ไม่ต้องห่วง เพราะมี สว.สำรองอีก 100 คน
 
“ระบบการเลือกตั้ง สว.แบบนี้ ที่เริ่มจากอำเภอ จังหวัด และประเทศ จะพ้นจากการร้องเรียนไม่ได้ เพราะคนไม่ได้มีจำนวนมากกว่าคนได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไม่ได้ เกิดมีความสงสัย แล้วฟ้องร้อง แต่ผมเชื่อว่าในที่สุด กกต.จะจัดการได้เรียบร้อย” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว


 ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวการฮั้วและล็อบบี้กัน มองว่ามีผลต่อคุณภาพของสว. ชุดใหม่หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตอนนี้เรายังไม่เห็นหน้า สว. ทั้ง 200 คน อย่างชัดเจน ฉะนั้นจะพูดเรื่องคุณภาพก็เป็นเรื่องที่ยาก ขอให้เห็นทั้ง 200 คนก่อน แต่เชื่อว่าอย่างน้อย เมื่อประกาศ สว. ทั้งหมดออกมาแล้ว น่าจะมีความหลากหลาย ทั้งคนที่มีชื่อเสียง ผู้ทรงคุณวุฒิ และประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ในหลากหลายอาชีพ คงจะไม่เฉพาะคนเก่งอย่างเดียว คนไม่เก่งก็จะได้เข้ามาเป็น สว. ด้วย รวมทั้งคนที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ก็คงจะได้เข้ามาเป็นสว. เพราะเป็นระบบเลือกตั้ง เราหนีไม่พ้น แต่ตนคิดว่าควรให้โอกาส สว.ที่มาจากการเลือกในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ก่อน แต่ก็หวังว่าคนที่ได้เป็น สว. เขาคงมีจิตสำนึกว่า เขาเป็น1ใน 200 คนของระดับประเทศ เขาคงจะรักษาคุณภาพของเขาเองได้

 เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับ สว. ชุดใหม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การทำงานไม่มีปัญหาอะไร คิดว่าสว. ชุดใหม่ไม่ได้อยู่ในอาณัติของใครมากนัก จะอยู่ภายใต้พรรคการเมืองก็คงไม่ชัดเจน ว่าพรรคการเมืองจะไปใช้อะไรเขาได้ และเมื่อดูระบบแล้วก็เห็นว่าอาจจะได้ สว.หลากหลาย ดังนั้นการทำงานของ สว. ชุดใหม่คงเป็นอิสระมากกว่าสว.ชุดที่ผ่านมาก็ได้ ส่วนการทำงานกับสภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีปัญหาอะไร ในฐานะประธานรัฐสภา ก็ต้องดูแลเมื่อมีการประชุมร่วมรัฐสภา

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัคร สว. แต่ตกรอบการเลือกระดับจังหวัดรอบแรก ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตนได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยการเลือกสว. ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรคสอง หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน แต่กกต.ดำเนินการโดยให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ลงคะแนนให้กลุ่มเดียวกันในทุกรอบทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งการกระทำ ของกกต.เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ที่อาศัยพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. 2561 จัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตา 107 (2) ซึ่งตนมองว่าเลือกกันเองแบบนี้ส่อให้เกิดการฮั้ว จึงร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบว่ากระบวนการเลือกกันเองนี้ถูกต้องตามกระบวนการ หรือการเลือกสว. หรือไม่ และขอเรียกร้องให้การเลือกเป็นโมฆะ และจัดการคืนเงินค่าสมัครให้กับผู้สมัคร

“ผมยืนยันว่าที่ผมร้องครั้งนี้ ถ้าสมติว่ามีการโมฆะ หรืออะไรก็ตาม ผม สนธิญา สวัสดี ไม่ลงสมัครสว. ไม่ว่าผลจะออกมา อย่างไรก็ตามแต่เราต้องการให้การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการเลือกสว.เป็นไปตามบทบัญญตัของกฎหมาย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 มี4 วรรค ไม่มีวรรคไหนที่ระบุให้เลือกไขว้ หรือเลือกอย่างใด ห้ามเลือกคนกลุ่มเดียวกัน ไม่ใช่ว่าแพ้แล้วพาล ผมสบายใจตั้งแต่แรกอยู่แล้ว” นายสนธิญา กล่าวและว่า ทั้งนี้ หากอัยการสูงสุดไม่ตอบใน 30 วัน ตนก็จะร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
 
วันเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สว. โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กระบุ ว่า แชร์สนั่นโซเชียล blockvote กกต. น่าจะตรวจสอบดูว่า ทำไมใจตรงกันหรือพกโพยเข้าห้องสอบกาเหมือนกันเป๊ะได้อย่างไร #ฮั้วเลือกสว. #สภาฮั้ว #กกต.มีหน้าที่
 
ต่อมา นายสมชาย ยังโพสต์เอกสารรายชื่อผู้ผ่านการเลือก สว. จำนวน 200 คน พร้อมระบุว่า กกต.และประชาชนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ก่อนประกาศให้ถูกต้องครบถ้วนก่อนครับ
 
จากนั้น นายสมชาย โพสต์ข้อความต่ออีกว่า ใครจะเลือกใช้กฎหมายมาตรานี้ฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐคนใดหรือคณะใดในระดับใดตั้งแต่อำเภอ จังหวัด ประเทศ ที่เห็นว่า ทุจริตหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้การเลือกสว.ที่เกิดขึ้น ก็พิจารณาเลือกใช้ได้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า ”ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นายสมชาย ระบุว่า แบ่งได้เป็น 2 ฐาน 1. ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด 2. ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งสองฐานความผิดนี้ต้องมีองค์ประกอบที่ส าคัญ 2 ประการคือ1. เป็นเจ้าพนักงาน 2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายื่นฟ้อง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และดูหมิ่นด้วยการโฆษณา รวม 2 ข้อหา

โดย นายวิญญัติ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายทักษิณให้มายื่นฟ้องคดีหมอวรงค์ เนื่องจากการรวบรวมพยานหลักฐานและวิเคราะห์จากสิ่งที่หมอวรงค์ได้มีการโพสต์ทางเฟซบุ๊ก และ tiktok รวมถึงการปราศรัยที่เวทีชุมนุมสะพานชมัยมารุเชษฐ์ มีคำพูดที่เข้าข่ายความผิดตามฟ้อง รวม 5 กรรมต่างวาระ ซึ่งเป็นความผิดที่ค่อนข้างชัดเจนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมีการกล่าวพาดพิงสื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าบุคคลที่พูดคือนายทักษิณ และพาดพิงถึงบุคคลในกระบวนการยุติธรรม และมีเจตนาให้บุคคลเข้าใจว่านายทักษิณวิ่งเต้นคดีด้วยถุงขนม 2,000 ล้านบาท จึงฟ้องร้องใน 2 ข้อหา และเรียกค่าเสียหายกรรมละ 20 ล้านบาท 5 กรรม รวม 100 ล้านบาท โดยศาลรับคำฟ้องหมายเลขดำที่ อ.1961/2567 พร้อมนัดไต่ส่วนมูลฟ้องวันที่ 30 ก.ย.67 เวลา 09.00 น.

นายวิญญัติ กล่าวด้วยว่า แม้ข้อความที่หมอวรงค์โพสต์หรือปราศรัยนั้น จะไม่มีการเอ่ยชื่อของนายทักษิณโดยตรง แต่ประชาชนทั่วไปรวมถึงสื่อมวลชน เมื่อได้ฟังและอ่านแล้ว เข้าใจได้ว่าคือนายทักษิณ เพราะมีการระบุวันที่ว่าวันที่ 18 มิ.ย.67 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณจะต้องเดินทางมาศาล และติดแฮชแท็กเอ่ยชื่อทักษิณ เพื่อเป็นการเน้นย้ำ และดึงดูดให้คนสืบค้นได้ง่าย

นายวิญญัติ กล่าวอีกว่า การฟ้องครั้งนี้ไม่ใช่การฟ้องปิดปาก แต่เป็นการแสวงหาความจริง และหาความยุติธรรมให้กับนายทักษิณ ส่วนกรณีที่หมอวรงค์บอกว่า ไม่กลัว อยากให้นำเอาพยานหลักฐานที่มีมาสู้ในชั้นศาล และหากมีแหล่งข่าวคนใดก็สามารถนำมาเป็นพยานได้


สำหรับประเด็นที่มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพียงแต่เขาแค่เดินทางเฉยๆ แต่ไปเอาข้อมูลเกี่ยวกับที่นั่งเครื่องบินและรถรับส่งมาเผยแพร่พร้อมข้อความที่ไม่จริง อย่าลืมปัจจุบันมีกฎหมาย PDPA ที่หากมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตมาเผยแพร่นั้น มีความผิดตามกฎหมาย หากสืบได้ว่ามีนายตำรวจคนใดสั่งการให้ลูกน้อง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหรือไม่ ตนไม่ยืนยันนำข้อมูลไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด โดยไม่มีหมายศาล ก็รอดูเลยว่าผู้ถูกกระทำเขาจะใช้สิทธิอย่างไร ก็แยกดำเนินออกเป็นอีกคดีได้ คดีนี้ที่ฟ้องก็อยากให้หมอวรงค์ใช้สิทธิให้เต็มที่ในการเรียกหลักฐานมา ซึ่งหากพบว่าข้อมูลหลุดมาจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตนว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ซึ่งต้องเตรียมรอรับผลเลย