แม้มี “คุณอนันต์” แต่ก็ส่งสัญญาณว่า มี “โทษมหันต์” จนต้องเฝ้าระวังกันด้วยเหมือนกัน
สำหรับ ระบบ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” อันเป็นเทคโนโลยีที่สุดล้ำ ทำอะไรๆ ได้สารพัด ไม่เว้นแม้กระทั่งการใช้เพื่อตกแต่ง ดัดแปลง สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส ทั้งหลาย อย่างน่าตื่นตา ตื่นใจ
โดยเทคโนโลยีเอไอ ยังถูกนำมาตกแต่ง ดัดแปลง เพื่อใช้ในสมรภูมิเลือกตั้งประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนดี และไม่ดี
ว่ากันในส่วนดีของการใช้เทคโนโลยีเอไอในศึกเลือกตั้งนั้น บรรดาผู้สมัครับเลือกตั้ง ก็สามารถนำมาใช้เพื่อการสนับสนุนรณรงค์หาเสียงของตน ซึ่งจะช่วยให้การรณรงค์หาเสียง กระจายไปสู่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอีกรูปแบบหนึ่ง และอาจจะทั่วถึงได้ดียิ่งกว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งต้องถือว่า เป็นคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีเอไอโดยแท้
อย่างไรก็ดี ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า เทคโนโลยีเอไอนี้ ก็มีโทษมหันต์ หากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง นำเทคโนโลยีเอไอ มาใช้ตกแต่ง ดัดแปลง ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายตรงข้าม ออกมาในรูปแบบเสียๆ หายๆ หรือออกมาเชิงลบ ก็จะสร้างความเสียหายให้แก่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องจริง หรือที่เรียกว่า “ข่าวปลอม” หรือ “เฟคนิวส์ (Fake news)”
ทั้งนี้ เทคโนโลยีเอไอ สามารถสร้างข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ เพื่อใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม ในลักษณะที่ “ปลอมได้อย่างล้วงลึก” หรือ “ดีพเฟค (Deep fake)”
โดยเทคโนโลยีเอไอ ที่มาใช้ตกแต่ง ดัดแปลง ในระดับ “ดีพเฟค” ก็ถึงขั้นเลียนแบบบุคลิก อากัปกริยาต่างๆ ของบุคคลนั้นๆ ได้อย่างชนิดถอดแบบราวกับเป็นคนๆ เดียวกันเลยก็ว่าได้
เมื่อเอไอ ทำได้ถึงขนาดนี้ จึงมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าว มาใช้ในแวดวงการเมือง ทั้งในด้านให้เป็นคุณกับฝ่ายตน และเป็นโทษกับฝั่งตรงข้าม ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
เหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะ การเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 60 ประเทศ ซึ่งหลายประเทศด้วยกันในระหว่างการรณรงค์หาเสียเลือกตั้ง ก็จะมีการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ ทั้งเพื่อการเป็นคุณกับฝั่งของตนเอง และเป็นโทษกับฝ่ายตรงข้ามด้วย
ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้เปิดคูหาให้ประชาชนได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
บรรดานักวิเคราะห์ ระบุว่า ในศึกเลือกตั้งแดนอิเหนาดังกล่าว มีการใช้เทคโนโลยีเอไอเพื่อการต่างๆ สารพัด และอย่างแพร่หลายอีกต่างหากด้วย
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข่าวลวง ข่าวลือ ให้กระพือโหมในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง
อาทิ ภาพคลิปวิดีทัศน์ หรือวิดีโอ ของนักการเมืองหลายคนที่มีทั้งภาพและเสียง ในบุคลิก และอากัปกริยาเฉกเช่นเดียวกับนักการเมืองคนนั้นๆ ซึ่งแท้จริงถูกดัดแปลง ตกแต่ง และสังเคราะห์ขึ้นมา ด้วยเทคโนโลยีเอไอ จนนักการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อ คะแนนนิยมร่วงหล่นกันไปตามๆ กัน หรือถ้าถูกตกแต่ง ดัดแปลง สังเคราะห์ ให้ภาพและเสียงออกมาเป็นคุณแก่นักการเมืองคนๆ นั้น ก็ส่งผลให้มีคะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นมา
ทั้งนี้ ในสมรภูมิเลือกตั้งของแดนอิเหนาที่เพิ่งผ่านพ้นไปดังกล่าว ถึงขนาดทำให้อดีตประธิบดีซูฮาร์โต ผู้ล่วงลับไปแล้ว กลับมาโลดแล่นทางการเมืองบนแอปพลิเคชัน “ติ๊กต็อก (TikTok)” ได้อีกครั้ง ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเอไอ นั่นเอง
โดยการใช้เทคโนโลยีเอไอ ในปฏิบัติการสร้างข่าวลวง ข่าวลือ ซึ่งแน่นอนว่า แทบจะหา “ความจริง” แม้น้อยนิดกันไม่ได้นั้น ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่บรรดานักวิเคราะห์ เช่น คณะนักวิเคราะห์จากเครือข่ายหน่วยงานตรวจสอบข็อเท็จจริง “มาฟินโด” ในอินโดนีเซียว่า น่าสะพรึงเป็นอย่างยิ่ง เพราะมิใช่ว่า สร้างความเดือดร้อนให้แก่นักการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น แต่เทคโนโลยีเอไอ อาจสร้างผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยแบบให้สั่นคลอนกันทั้งระบบ หรือองคาพยพต่างๆ ขึ้นได้ หากมีดัดแปลง ตกแต่ง และสังเคราะห์ เพื่อให้ร้ายต่อระบอบนี้ขึ้นมา ตลอดจนสร้างความเกลียดชังระหว่างกันให้บังเกิดผู้คนในชาติ หากนำมาดัดแปลงตกแต่งเพื่อให้ร้ายอีกฝ่าย เช่น กรณีที่เอไอดัดแปลงเสียงนางเมกาวตี ซูการ์โน อดีตประธานาธิบดีหญิงของอินโดนีเซีย ด่าทอนักการเมืองอีกฝ่าย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอดีตผู้นำหญิงรายนี้ไม่ได้ด่าทอแม้แต่น้อย แต่ปรากฏว่า ผู้คนก็ได้เชื่อไปแล้วว่า เป็นเรื่องจริง
เหล่านักวิเคราะห์ ยังเปิดเผยถึงความกังวลด้วยว่า น่าเป็นห่วงต่อการใช้เทคโนโลยีเอไอ เพื่อหวังผลทางการเมือง ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ที่จะเปิดคูหาให้ประชาชนไปใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายนปลายปีนี้ด้วยเหมือนกัน
โดยในระหว่างนี้ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ก็ปรากฏว่า มีการใช้เทคโนโลยีเอไอ ในทางการเมือง ทั้งในด้านสร้างความเป็นคุณให้แก่ฝ่ายตน และเป็นโทษให้แก่ฝั่งตรงข้าม
ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีเอไอ เพื่อตกแต่ง ดัดแปลงเสียง คำพูดต่างๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต ไปเป็น เสียงในโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมการหาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีไบเดนในหมู่พลพรรคเดโมแครตได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ ภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝั่งตรงข้าม คือ พรรครีพับลิกัน ปรากฏเป็นภาพของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของพรรครีพับลิกัน สวมกอด ดร.แอนโทนี เฟาซี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ซึ่งมีปัญหาคาใจระหว่างกันครั้งที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐฯ ซึ่งภาพการสวมกอดของบุคคลทั้งสองข้างต้น ก็ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีเอไอ
บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า การใช้เทคโนโลยีเอไอข้างต้น ต้องถือเป็นปัญหาหนักอก และกลายเป็นโจทย์ใหญ่ ที่หลายฝ่ายต้องตระหนักและเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด ให้แก่ฝ่ายจัดการเลือกตั้งในการรับมือ เช่นเดียวกับประชาชนผู้หย่อนบัตรฯ ก็ต้องรู้เท่า รู้ทัน มีวิจารณญาณไม่ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อง่ายๆ