“ พระองค์ไม่ใช่แค่ปลูกป่าแต่พระองค์ทำมากกว่านั้นคือการรักษาป่า นอกจากนี้ยังทรงทำเรื่องน้ำ มากมายไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ โครงการแก้มลิง ระบบชลประทานต่างๆ นั่นคือสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ไม่ใช่การวางแนวทาง อย่างในเรื่องแก๊สโซฮอล์ทที่พระองค์ทรงทำแล้วใช้ในรถโครงการหลวง ใช้ประสบผลสำเร็จจึงตรัสสั่งให้รัฐบาลนำมาขยายผล ปัจจุบันเราก็ใช้กันทั้งประเทศ”
หมายเหตุ : “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ในฐานะนักอนุรักษ์ทางทะเล ที่มีผลงานอย่างต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐ” เพื่อถ่ายทอดถึงความประทับใจ ต่อพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่องานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งป่า น้ำ และดิน ที่ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย ประชาชนคนในชาติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้ดร.ธรณ์ ระบุว่าเขายินดีที่จะถ่ายทอดพระอัฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในทุกด้าน โดยเฉพาะการที่พระองค์มีสายพระเนตรที่ยาวไกล มองเห็นถึง “ภัยธรรมชาติ” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้ทรงหาทางแก้ปัญหา เอาไว้ตั้งแต่แรก เพื่อประชาชนของพระองค์ ด้วยความทุ่มเทเละมุ่งมั่น
-อยากให้สะท้อนความเป็นนักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม ของในหลวง
เมื่อ 27 ปีก่อน ในปี วันที่ 4 ธ.ค. 2532 พระองค์ให้พระบรมราโชวาทในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระองค์ พระองค์ทรงบอกชาวไทยเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน บอกว่าน้ำแข็งจะละลาย น้ำทะเลจะสูงขึ้น ตอนนั้นคนไทยอาจยังไม่ตระหนัก และพระองค์ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนทุกอย่างและพระองค์ยังทรงหาทางออก ทำให้เห็นว่าวิธีลดโลกร้อนจะทำได้อย่างไร
เช่นหาหนทางลดการใช้พลังงานฟอสซิล โดยใช้แก๊สโซฮอล์ พลังงานชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ทรงเป็นต้นแบบในหลายต่อหลายเรื่อง การลดภาวะเรือนกระจก การปรับเปลี่ยนเกษตรที่สูง รักษาป่าไม้ เพราะหากต้องปลูกใหม่ กว่าต้นไม้เล็กจะโตเป็นไม้ใหญ่ดูดคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก ต้องใช้เวลานับสิบปีหรือกว่านั้น
พระองค์ทรงทราบดีว่าเราต้องรักษาธรรมชาติไว้เพื่อปกป้องภัยพิบัติจากโลกร้อนที่จะมีมากขึ้นและมากขึ้นทั้งเกษตรพอเพียง ป่าไม้ การดูแลรักษาชายฝั่งทะเล ฯลฯ นั่นคือสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ภัยร้ายแรงจากโลกร้อนคือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เราเผชิญกับภัยแล้งกับน้ำท่วมสลับกันมาทุกปี
พระองค์เน้นระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเก็บน้ำไว้ในหน้าแล้ง ป้องกันน้ำท่วมในหน้าฝน มีอีกร้อยอีกพันโครงการที่ทำเพื่อรับมือภัยพิบัติล่วงหน้า ถ้าจะให้ผมพูดเรื่องที่พระองค์เป็นนักอนุรักษณ์ มันพูดไม่หมด ยกตัวอย่างง่ายๆที่เข้าใจกันง่ายๆเรื่งหลักๆก็เรื่องโลกร้อนและการใช้แก๊สโซฮอล์
ถือว่าพระองค์เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติในทุกด้านทั้ง ดิน น้ำ ป่า และโลกร้อนเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญที่พระองค์ทรงทำ เพราะอย่างในพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านในเรื่องนี้ยาวประมาณ 3 หน้ากว่าๆ ซึ่งเห็นได้ว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ยังไม่รวมโครงการอีกมากมายที่พระองค์ทรงทำ มีมากมายเหลือเกิน ทั้งทฤษฎีแกล้งดิน โครงการแก้มลิง กังหันน้ำชัยพัฒนา
-การดำเนินงานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศไทย ประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรกัน ในหลวงของเราท่านได้ทรงวางแนวทางดำเนินงานเรื่องนี้เอาไว้อย่างไรบ้าง
พระองค์ท่านไม่ได้วางแนวทางแต่ พระองค์ท่านทรงทำ ทำให้ทุกคนดูเป็นตัวอย่าง เราเพียงแค่ทำตามที่พระองค์ท่านทำให้ดู ขยายผลต่อจากที่พระองค์ทรงทำไว้ เพียงแค่นี้ ไม่ต้องไปยึดหลักแนวทางเพราะพระองค์ไม่ได้สอนแนวทางแต่ทำให้ดูตัวอย่าง นั่นคือตัวอย่างที่ดี อย่าไปคิดว่าพระองค์วางแนวทาง วางแนวคิด มันไม่มี มีแต่สิ่งที่พระองค์สร้างไว้ ทำไว้ให้ประชาชนของพระองค์เท่านั้น
พระองค์ไม่ใช่แค่ปลูกป่าแต่พระองค์ทำมากกว่านั้นคือการรักษาป่า นอกจากนี้ยังทรงทำเรื่องน้ำ มากมายไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ โครงการแก้มลิง ระบบชลประทานต่างๆ นั่นคือสิ่งที่พระองค์ทรงทำ ไม่ใช่การวางแนวทาง อย่างในเรื่องแก๊สโซฮอล์ท่พระองค์ทรงทำแล้วใช้ในรถโครงการหลวง ใช้ประสบผลสำเร็จจึงตรัสสั่งให้รัฐบาลนำมาขยายผล ปัจจุบันเราก็ใช้กันทั้งประเทศ
ฉะนั้นมองว่าในเรื่องของป่าไม้เราก็ควรนำมาขยายผลเช่นเดียวกัน สำหรับพวกเราทุกคนก็ควรนำแบบอย่างและโครงการของพระองค์ที่ทรงทำไว้มาขยายต่อ ทำต่อไปให้คงอยู่กับพวกเราไปตลอด ทุกอย่างพระองค์ทรงทำไว้ให้หมดแล้ว ดูแบบแล้วทำตามที่พระองค์ทำไว้ให้เพียงแค่นี้
- ก่อนหน้านี้ดร.ธรณ์ เคยเล่าเรื่อง "ปลานิล คือการทูตหยุดโลก" ขอให้ช่วยขยายความและนี่ถือได้ว่าเป็นพระปรีชา ของพระองค์ที่น่าทึ่ง และมีตัวอย่างเรื่องอื่นๆอีกหรือไม่
เรื่องปลานิลถือเป็นเรื่องที่เป็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ลองคิดดูว่าจะมีใครสักกี่คนที่ทำให้ปลาไม่กี่ตัวกลายเป็นปลาที่มีปีละ 220,000 ตัน จากฟาร์ม 300,000 แห่ง สร้างงานให้ผู้คนเรือนล้านประเทศไทยยังส่งออกปลานิลไปทั่วโลก สร้างรายได้มหาศาล จนเป็นปลาส่งออกลำดับต้นๆ ของเมืองไทย
พระองค์ประทานปลานิลให้กรมประมงไปขยายพันธุ์ประมาณ 10,000 ตัว เมื่อเวลาผ่านไปปลานิลเริ่มกลายพันธุ์ คือมีตัวเล็กลง พระองค์ก็ทรงให้กรมประมงพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลใหม่ให้มีตัวโตและมีเนื้อมาก ซึ่งหากหาสายพันธุ์แท้ไม่ได้ให้มาเอาของพระองค์ที่ทรงเลี้ยงไว้ในวังสวนจิตรลดา
และสายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เป็นสายพันธุ์พระราชทานหรือที่เรียกกันว่า "สายพันธุ์จิตรลดา" เป็นสายพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์ ไม่มีการปะปนของสายพันธุ์ปลาหมอเทศ ซึ่งทำให้ปลามีขนาดเล็กลง
นอกจากพระอัจฉริยภาพในเรื่องปลานิล ยังมีเรื่องแหล่งท่องเที่ยวที่พระองค์ทำไว้ไม่รู้ตั้งกี่แห่ง ยกตัวอย่างง่ายๆโครงการหลวงดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นโครงการหลวงโครงการแรกๆที่จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรเลย ไม่น่าดู ไม่น่ามอง ไม่น่าท่องเที่ยว แต่พระองค์ก็ทำให้มีขึ้นมาได้ทั้งต้นไม้ ดอกไม้และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ใครๆก็ต่างอยากไปเที่ยวกันมากมาย ไม่ใช่ใครจะมาทำก็ได้
- สำหรับนักอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แล้วจากนี้ไป อะไรคือ ภารกิจที่สำคัญที่จะต้องทำเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์
สำหรับตัวผมเองนั้นก็ได้ทำทุกอย่างทั้งสอนหนังสือ เขียนหนังสือสิ่งที่พอจะทำได้ ทำหน้าที่ของตัวเอง เผยแพร่พระราชกรณียกิจทุกอย่างของพระองค์ ยึดถือพระองค์เป็นแบบอย่างในการทำงาน เพราะเป็นคนรุ่นกลางที่ได้ถวายงานแก่พระองค์ท่าน เนื่องจากคนอื่นๆที่ถวายงานก็เป็นสูงวัยกันเยอะ จึงเปรียบเสมือนคนกลาง
อย่างที่เขียนหนังสือ “พระองค์ผู้ทรงทำ” ก็เพื่อส่งต่อพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำให้แก่ประชาชนชนชาวไทยมาตลอดระยะเวลา 70 ปี จนถึงตอนนี้ให้สัมภาษณ์แก่รายการวิทยุ นิตยสาร โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ไปแล้วไม่น้อยกว่า 90 รายการ ถามว่าพูดเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยแต่เต็มใจที่จะพูด และจะสืบสานงานของพระองค์ให้คงอยู่สืบไปชั่วกาล อันเป็นภารกิจสำคัญสุดนับจากวันนี้
-คำสอน ที่มีค่าที่สุดของพระองค์ ที่ดร.ธรณ์เองยึดถือ ในงานด้านอนุรักษ์คืออะไร
ไม่มีคำสอนใดจะมีค่าเท่ากับตัวของพระองค์ ตัวของพระองค์ท่านคือสิ่งที่มีค่าที่สุด ไม่เคยยึดคำสอนไหนยึดถือแต่พระองค์ที่เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต พระองค์คือแรงบันดาลใจและแรงผลักดันในการดำเนินชีวิต เรียกได้ว่าพระองค์เป็นแรงบันดาลใจการทำงานทุกอย่าง งานทุกอย่างที่สามารถทำได้ และที่สมควรทำ
พระองค์ยังเป็นต้นแบบให้ผมเป็นอาจารย์ เป็นดร.ธรณ์ ในวันนี้ เพราะได้อ่านสารานุกรมไทย ฉบับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 1 สมัยพ.ศ.2506 จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เป็นนักเขียน
ตั้งใจไว้ว่าจะทำความดีให้ครบ 1 เดือนตั้งแต่ที่พระองค์งจากไป จึงตั้งใจไว้ คือ1.จะไม่เขียนเรื่องอะไรลงเฟสบุ๊ก ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ จะหลีกเลี่ยงเรื่องที่ทำให้คนขัดแย้งกันทุกอย่าง 2.จะนำเรื่องพระองค์ไปสอนกับนิสิต ได้สอนในคลาส man&sea สองคาบ นิสิต 450 คน และวิชาสัมมนาของภาควิชา นิสิต 70 คน จะนำเรื่องพระองค์ไปเป็นข้อสอบด้วย3.จะทำหนังสือให้พระองค์ ตอนนี้ทำแล้ว ได้ผลเกินคาดไปเกือบ 10 เท่า และ4.จะบอกเล่าเรื่องพระองค์ให้คนอื่นฟังผ่านสื่อต่างๆ เริ่มตั้งแต่เวทีงานหนังสือในวันที่ 14 ต.ค.
ซึ่งความตั้งใจที่ตั้งไว้นั้นก็ได้ทำไปหมดแล้ว เพราะไม่ใช่คนมองการณ์ไกล สัญญาเฉพาะ1 เดือนเท่านั้นและก็ทำสำเร็จ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในห้องเรียน เวลาสอนนักศึกษาก็ยกเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมิน ทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปสอน ด้วย
เรื่องโดย : ชยณัฏฐ์ มีเงิน