เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มร.ชร) อ.เมือง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ร่วมกับ สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จัดเวทีพลเมืองตื่นรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางกายในชุมชนชาติพันธุ์  โดยมี ผช.ศ.ยิ่งศักดิ์ เพชรนิล รองอธิการบดี มร.ชร. เป็นประธาน และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้ง พชภ.  นางจุฑามาศ  ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางกายฯ พชภ.  ดร.อติเทพ วงศ์ทอง ผ.อ.สำนักศิลปะวัฒนธรรมร่วมเปิดงาน โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนผู้ร่วมโครงการ และชุมชนชาวชาติพันธุ์ เข้าร่วมกว่า 400 คน

ทั้งนี้สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มร.ชร.  พชภ. สมาคมลาหู่ในประเทศไทย  สมาคมไตลื้อจังหวัดเชียงราย และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพวิถีชนเผ่าต้นน้ำแม่ยาว ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการทำงานแบบเบญจภาคีว่าด้วยการจัดกิจกรรม อนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน และเผยแพร่ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและด้านวิชาการ พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 5 องค์กร

ดร.อติเทพ วงศ์ทอง ผอ. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมศิลปะวัฒนะธรรมท้องถิ่น เนื่องจาก มร.ชร. เป็นมหาวิทยาลัยที่บริการวิชาการชุมชน ที่รับผิดชอบในเชียงราย สำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้ร่วมกันสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น สุขภาวะทางกาย และวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งด้านการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อกายและใจ ด้านอาหารกลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างเครือข่าย สนับสนุนวิชาการที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทุกชาติพันธุ์ในเชียงราย

ผช.ศ.ยิ่งศักด์ เพชรนิล รองอธิการบดี มร.ชร. กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายนับว่ามีทรัพยากร นิเวศน์วิถีชีวิตที่หลากหลาย เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มีการปลูกพืชผักหลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะ ตัวทำให้มีการส่งเสริมกิจกรรมกาดกายดี นับเป็นนิมิตหมายที่ดีได้แสดงออกทางวัฒนธรรม มีผลต่อสุขภาวะทางกายด้วย ทั้งเพื่อพัฒนาองค์ความรู้สุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ได้ใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพผ่านวัฒนธรรมและกิจกรรม การทำงานกันเป็นทีม เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งบุคลกร การศึกษา และสังคม

นางเตือนใจ  ดีเทศน์  กล่าวว่า จากที่ได้ชมการแสดงจะเห็นว่ามีออกกำลังกายทุกส่วน และต้องมีการซ้อมการทำงานเป็นหมู่คณะ ยังช่วยทำให้เด็กและเยาวชนไม่ซึมเศร้า สร้างความรักความสามัคคี  ทั้งเป็นการรวมกลุ่มสังคมครอบครัววัฒนธรรมหลายกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ทำกิจกรรมร่วมกัน มีส่วนที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่ เช่น การทำดาบจากไม้ไผ่ ชุดชาติพันธุ์ที่ทำจากผ้าฝ้าย ขนสัตว์ ลูกเดือยที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับ  ทำให้รู้คุณค่าการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้ตระหนักในธรรมชาติในความอุดมสมบูรณ์ 

ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อพลเมืองตื่นรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางกายในชุมชนชาติพันธุ์ และแนวทางหรือข้อคิดเห็นในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนชาติพันธุ์ โดยนายวิชัย  ภินะบรรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานทั่วไป โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ต.เทอดไทย กล่าวว่า การจะขยับเรื่องสุขภาพเป็นบทบาทที่เราจะต้องทำร่วมกัน ภาครัฐที่มีองค์ความรู้ ซึ่งตัวชุมชนมีศักยภาพอยู่แล้ว รัฐต้องออกนโยบายมาให้เหมาะกับชุมชนนั้น ถ้าสิ่งแวดล้อมดี  ก็จะทำให้สุขภาพกายและจิตดี ในบ้าน โรงเรียน สภาพอากาศ เด็กจะออกกำลังกายได้ มีการซ้อมแผนการได้รับบาดเจ็บ ในสังคมที่บ้าน พ่อแม่ให้ความเชื่อมมั่นเอาใจใส่ สุดท้ายเด็กจะได้เป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์

นายวุฒิพงษ์ สวรรคโชติ ประธานสมาคมลาหู่ในประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนมักทำงานหาเงินจนลืมสุขภาพ แต่สุดท้ายยอมสูญเสียทุกอย่างเพื่อให้ได้สุขภาพดีคืนมา คนชนบทบนดอยเมื่อก่อนไม่มีโรคประจำตัว เพราะปกติพวกทำไร่ ทำนา ทำสวน พอพลวัตทางสังคม เทคโนโลยี เข้ามาทำให้ทำงานน้อยลง ปัจจุบันมีคนไปรับยา ความดันเบาหวาน ไขมันพอกตับ เรากำลังให้ความสนใจ จากเดิมที่ปลูกผักส่งขาย ปัจจุบันปรากฎว่าเราชาวดอยรอรถเข้ามาขายในหมู่บ้าน ไม่ค่อยมีผักสวยครัวกันแล้ว เป็นสิ่งที่เราควรกลับมาพิจารณาปลูกผักกินเองเพื่อความปลอดภัยและได้สุขภาพกายที่ดีด้วย

นายตฤณธวัช  ธุระวร ผู้ประสานงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพวิถีชนเผ่าต้นน้ำแม่ยาว กล่าวว่า กายดี สุขภาพดี มีองค์ประกอบ วงแรก คือ อาหาร อากาศ ยารักษาโรค อยู่ในชีวิตเราทุกวัน ทุกวันนี้เราเจอปัญหาสุขภาพ การกินเป็นลำดับแรก อากาศที่เราหายใจ ปัจจุบันอากาศเสียมาก การใช้ยารักษาโรค การในนำธรรมชาติมาใช้รักษาโรค ถ้าเราใช้เป็น มีผลกระทบน้อยกว่าแผนปัจุบัน ส่วนวงที่สอง คือ ดิน น้ำ ป่า ปัจจุบันจะเห็นว่าดินอาบด้วยยาพิษ ส่งต่อไปที่อาหาร น้ำ เดิมบนดอยน้ำดื่มตักที่ไหนก็กินได้ ปัจจุบันต้นน้ำมีแต่สารเคมี มีผลกระทบต่ออาหาร อากาศ ป่าเป็นแหล่ง อาหาร น้ำ ยาสมุนไพร  ปัจจุบันเราตัดต้นไม้ มีเคมีมหาศาล ส่งผลต่ออาหาร อากาศ