เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 26 มิ.ย. 67  ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้อนรับนายดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยนายกฯ นำตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ จากนั้นนายกฯ และภริยา และนายกฯ ภูฏานและภริยา ถ่ายภาพร่วมกัน ที่บันไดโถงกลาง ตึกไทยคู่ฟ้า จากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนะนำตนเองต่อนายกฯภูฏานและภริยา ก่อนที่นายกฯ ภูฏานและภริยา ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ ห้องสีงาช้าง (ด้านนอก) ตึกไทยคู่ฟ้า โดยเวลา 10.45 น. นายกฯ และนายกฯ ภูฏาน หารือแบบ Four eyes ที่ห้องสีงาช้าง (ด้านใน) ตึกไทยคู่ฟ้า 

 

จากนั้นเวลา 11.11 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือเต็มคณะร่วมกับ ดาโช เชริง โตบเกย์ (H.E. Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน 

 

นายกฯ ยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบกับนายกฯ

ภูฏาน แสดงความยินดีกับนายกฯ ภูฏานที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยเชื่อมั่นว่าด้วยมิตรภาพที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ จะสามารถกระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่มีศักยภาพร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของภูฏานที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทย ซึ่งไทยพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ส่งเสริมความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง 

 

นายกฯ ภูฏานขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในประเทศไทย โดยการเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทย – ภูฏาน ชื่นชมไทยที่ถือเป็นประเทศผู้นำของอาเซียนและภูมิภาค 

 

โดยทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด พร้อมขอบคุณและซาบซึ้งในการทำงานของรัฐบาลไทยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยไม่ใช่เพียงแค่ผู้ลงทุน แต่ยังเป็นผู้ให้ อีกทั้งเป็นตัวอย่างของการพัฒนาประเทศที่ภูฏานได้นำไปปรับใช้เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มั่นคงยิ่งขึ้น โดยภูฏานพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยให้มากขึ้นในอนาคต

 

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้ ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีกับการประกาศเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าที่ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเห็นพ้องที่จะผลักดันการสรุปผลเจรจา FTA ภายในปี 2025 ขณะที่นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าวว่า ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของภูฏาน จึงเห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถร่วมมือจัดตั้งธุรกิจผ่าน FDI และกิจการร่วมค้าในภูฏาน และขยายช่องทางการค้าไปยังอินเดียได้

 

ด้านโอกาสการลงทุนในโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City (GMC) นายกรัฐมนตรีภูฏานนำเสนอถึงศักยภาพของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูฏาน ติดกับประเทศอินเดีย โดยมีแผนการก่อสร้างโครงการใหญ่ อาทิ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งใหม่ เส้นทางคมนาคม และจะเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของภูฏาน โดยไทยพร้อมที่จะสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าปลีก การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยีการเกษตร โดยปัจจุบันมีบริษัทไทยบางส่วนเข้าร่วมลงทุนในโครงการ GMC แล้ว และยังให้ความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม (Urban development) ภายในพื้นที่โครงการ GMC ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะทำให้ภูฏานเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มีเครือข่ายของระบบนิเวศที่ยั่งยืนได้ 

 

ด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร เห็นพ้องที่ส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ของภูฏานเข้าสู่ตลาดในไทย โดยไทยยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้แก่ภูฏาน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีภูฏานได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Gewog One Product - OGOP) ของภูฏาน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผลิตภัณฑ์ OTOP ของไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ผลิตภัณฑ์ OGOP จะช่วยสร้างโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่นเช่นเดียวกับไทย และยินดีช่วยนำเสนอผลิตภัณฑ์ OGOP ในตลาดไทยมากขึ้น

 

ด้านการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism : CBT)

 

ด้านพลังงานสะอาด นายกฯ เน้นย้ำถึงนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือ การมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ซึ่งภูฏานมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตและส่งออกพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

ด้านการศึกษา ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการจัดทำโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีภูฏานขอบคุณสำหรับการสนับสนุนทั้งด้านการให้ทุนการศึกษา ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ตลอดจนการจัดฝึกอบรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ ซึ่งไทยถือเป็นอีกจุดหมายปลายทางด้านการศึกษาของนักศึกษาภูฏาน โดยไทยพร้อมให้การสนับสนุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งแนวทางในการจัดทำวีซ่าสำหรับนักศึกษาที่จะอยู่และทำงานในไทยภายหลังสำเร็จการศึกษา เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา

 

ด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายพร้อมสานต่อความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้แก่โรงพยาบาล Jigme Dorji Wangchuck National Referral Hospital (JDWNRH) เมื่อปี 2566 ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งแรกในภูฏาน และโครงการพัฒนาบริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาหู จมูก และคอ ซึ่งไทยได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภูฏานในการสร้างขีดความสามารถให้กับบุคลากรทางการแพทย์ชาวภูฏาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีภูฏานแสดงความยินดีและขอบคุณสำหรับความร่วมมือดังกล่าว