"รมช.อรรถกร" นั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ เห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าผลไม้-น้ำผึ้ง-โรงฆ่าสัตว์ ให้สอดคล้องมาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถการส่งออก เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม
วันที่ 26 มิ.ย.67 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ที่ประชุมรับทราบประกาศกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรเป็นมาตรฐานบังคับ ภายใต้ พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับปางช้าง (มกษ. 6413-2564) จะมีผลบังคับใช้มาตรฐานตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป และเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (มกษ. 6909-2562) ที่มีจำนวนตั้งแต่ 1,000 – 99,999 ตัว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้มาตรฐานตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1) มะม่วง โดยเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับความอ่อน-แก่ของมะม่วงในพันธุ์ที่ผลิตสำหรับการค้า เช่น น้ำดอกไม้สีทอง มหาชนก โชคอนันต์ และอาร์ทูอีทู แต่ไม่รวมมะม่วงที่ใช้แปรรูปในอุตสาหกรรม 2) อะโวคาโด โดยใช้มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) เป็นแนวทางการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ 3) การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับการผลิตข้าวโพดหมัก เพื่อดูแลมาตรฐานการผลิตอาหารสัตว์และช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต
4) การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำผึ้ง เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำผึ้งมีแนวโน้มขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องกำหนดมาตรฐานดังกล่าว โดยใช้แนวทางตามมาตรฐาน General Principles of Food Hygiene; CXC 1-1969 ของ Codex ฉบับใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและการแข่งขันของน้ำผึ้งไทยในตลาดส่งออกของไทย 5) น้ำผึ้งชันโรง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง เฉลี่ย 1,500-2,500 บาทต่อกิโลกรัม จึงควรมีมาตรฐานรองรับเพื่อยกระดับสินค้าให้มีศักยภาพและพร้อมพัฒนาต่อไป และ 6) การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ โดยปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์เพื่อนำไปบริโภคให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเกณฑ์กำหนดทางการค้าในปัจจุบัน ซึ่งช่วยสร้างความความปลอดภัยด้านอาหาร และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเนื้อสัตว์ของไทย และช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกรอีกด้วย