ยุติธรรมตั้ง "พิชัย นิลทองคำ" นั่งประธานคณะทำงานถอดบทเรียน กรณี "สตาร์ค" ตั้งเป้าป้องกันและลดความเสี่ยงกระทำผิดซ้ำ

วันที่ 26 มิ.ย.67 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวน กรณีที่มีการกล่าวโทษนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับพวกในความผิดฐานลงข้อความอันเป็นเท็จในบัญชีหรือเอกสารและงบการเงินของบริษัทฯ ความผิดฐานแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายอาญา โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 14,778,000,000 บาทภายหลังมีการนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว นั้นกรณีดังกล่าว พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เห็นว่าเป็นกรณีที่มีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงมีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 158/2567 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2567 แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรม กรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (STARK) ขึ้น โดยมีนายพิชัย นิลทองคำ (อดีตอธิบดีศาลล้มละลายฯ เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุน) เป็นประธานคณะทำงาน และคณะทำงานประกอบด้วย ผู้แทนอัยการสูงสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุน รวมทั้งกฎหมาย และตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญ รวม 10  ท่าน เป็นคณะทำงาน

โดยมีผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นเลขานุการคณะทำงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแผนประทุษกรรมคดีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK ทั้งด้านข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยถอดบทเรียนและวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษและการเพิ่มประสิทธิภาพในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของตลาดทุนและตลาดเงิน เพื่อสร้างระบบการกำกับดูแลตรวจสอบและแจ้งเตือนล่วงหน้า อันเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล