แม้เพิ่งเริ่มเปลี่ยนฤดูกาล เข้าสู่ฤดูร้อน สำหรับในกลุ่มประเทศที่มี 4 ฤดูกาล ซึ่งฤดูร้อนได้ย่างเข้ามาเยือนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่เพิ่งผ่านมา แต่ก็บอกว่า เป็นฤดูร้อนที่ทำท่าว่า จะร้อนอย่างเหลือหลาย จากสภาพอากาศคลื่นร้อนที่โหมกระหน่ำถาโถมเข้าไปในหลายพื้นที่
แถมมิหนำซ้ำ ยังเป็น “คลื่นร้อนมรณะ หรือ “คลื่นร้อนเพชฌฆาต” ที่พิฆาตเข่นฆ่าผู้คน จนล้มตายกันเป็นจำนวนมากอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่ฤดูร้อนเพิ่งแวะมาเยี่ยมเยือนตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
ยกตัวอย่างเช่น ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมืองที่เพิ่งผ่านพ้นการจัดให้มีพิธีฮัจญ์ของศาสนาอิสลาม เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ซึ่งพิธีดังกล่าว ก็มีชาวมุสลิมจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ กันเป็นจำนวนมาก โดยตามประมาณการ ก็ระบุว่า มีจำนวนราวๆ 1.8 - 2 ล้านคน
ด้วยสภาพผู้คนที่แออัด กอปรกับคลื่นร้อนที่ถาโถม ทำให้อุณหภูมิในนครเมกกะ ทะยานพุ่งเกือบจะไปแตะที่ 52 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสภาพอากาศที่ร้อนจัดนี้ จำนวนมากกว่า 1,300 คน
โดยมีรายงานว่า ผู้เสียชีวิต เป็นผู้แสวงบุญที่เดินทางมาจากหลายประเทศด้วยกัน ได้แก่ อียิปต์ มาเลเซีย ปากีสถาน อินเดีย จอร์แดน อินโดนีเซีย อิหร่าน เซเนกัล ตูนิเซีย และอิรัก เป็นต้น
ส่วน “อินเดีย” ในฤดูร้อนปีนี้ ก็ต้องเป็นปีที่ร้อนระดับเพชฌฆาตปีหนึ่งอีกเหมือนกัน เพราะมีประชาชนต้องเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างสุดขั้วไปแล้วกว่า 100 ราย รวมถึงยังมีผู้ที่ล้มป่วยอันเกี่ยวเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดอีกเป็นจำนวนมาก เช่น การล้มป่วยด้วยอาการลมแดด หรือฮีทสโตรก เป็นต้น ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวที่ร้ายแรง เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจ หรือเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็ย่อมมีโรคประจำตัว แล้วมาเป็นฮีทสโตรก ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต ยิ่งกว่าคนหนุ่มสาว และมีสภาพร่างกายปกติทั่วไป
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย เปิดเผยว่า นับถึงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ล้มป่วยด้วยอาการลมแดด หรือฮีทสโตรก จำนวนมากกว่า 40,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้ปรากฏว่า อย่างน้อย110 คน ต้องเสียชีวิตไป
ตามการเปิดเผยของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของอินเดีย ก็ยังระบุด้วยว่า ฤดูร้อนในปีนี้ ทำให้กรุงนิวเดลี มีสภาพอากาศอบอุ่นที่สุดในรอบ 55 ปี เลยทีเดียว ซึ่งหมายถึงอากาศร้อนมากขึ้นนั่นเอง
แม้กระทั่งในยามค่ำคืน ที่หลายคนคาดการณ์กันว่า สภาพอากาศน่าจะเย็นมากขึ้น แต่ปรากฏว่า กรุงนิวเดลี ในหลายค่ำคืนของฤดูร้อนที่เพิ่งเริ่มมา ก็มีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ จากการตรวจวัดสภาพอากาศ พบว่า ในเวลาตีหนึ่ง หรือ01.00 น. ของบางค่ำคืน อุณหภูมิของกรุงนิวเดลี ก็พุ่งทะยานขึ้นไปถึง 35.2 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงเวลากลางวัน แทบจะไม่ต้องพูดถึง เพราะทะลุเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสกันทุกวัน นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมเป็นต้นมา
พร้อมกันนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า จากสภาพอากาศที่วิปริตแปรปรวนอย่างสุดขั้ว อย่างอากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้ ก็อาจจะส่งผลให้ประชาชนชาวอินเดีย เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานกันขึ้นได้ แบบ “หนีร้อนไปพึ่งเย็น” คือ ไปพำนักอาศัยในสถานที่ที่มีสภาพอากาศที่ดีกว่า พร้อมทั้งประมาณการด้วยว่า กระแสการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวอินเดีย จะเป็นไปในลักษณะย้ายจากถิ่นเก่าออกไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงปี 2050 (พ.ศ. 2593) ตัวเลของผู้อพยพย้ายถิ่นฐานรวมกันแล้วก็จะมีจำนวนมากถึง 45 ล้านคนด้วยกัน
เหล่าผู้เชี่ยวชาญ ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดก็จะทำให้ธารน้ำแข็งที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ อย่างบริเวณเทือกเขาหิมาลัย เกิดการละลายตัว จนไปเพิ่มปริมาณระดับน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ และระดับน้ำทะเล ให้สูงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จนเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชาวอินเดียอพยพย้ายถิ่นฐานกันด้วย
ขณะเดียวกัน ทางด้านภูมิภาคยุโรป และทวีปอเมริกาเหนือ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงต้นของฤดูร้อน ซึ่งเพิ่งมาเยือนนี้ ก็กำลังได้รับผลกระทบจากคลื่นร้อน จนทำให้อากาศร้อน และวิปริตแปรปรวนเป็นประการต่างๆ
โดยมีรายงานว่า ในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรป เผชิญกับฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลัน และในบางพื้นที่ก็เกิดดินถล่ม จนทางการต้องสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ เช่น ที่ประเทศฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ส่วนในบางประเทศ เช่น โปรตุเกส ลากเลยไปถึงกรีซ ปรากฏว่า คลื่นร้อนที่ทำให้อากาศร้อนจัด ก็ปะทุขึ้นกลายเป็นไฟป่ากันขึ้น ซึ่งสภาพอากาศร้อนจัด จนก่อให้เกิดไฟป่าเช่นนี้ ยังส่งผลกระทบไปถึงทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา จนเกิดปรากฏการณ์ไฟป่าด้วยเช่นกัน เช่นบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทางตอนเหนือของประเทศแอลจีเรีย ที่กำลังประสบอยู่ เป็นต้น
โดยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในหลายประเทศของยุโรป อย่างที่กรีซ กำลังเผชิญเป็นต้น ก็ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เสียชีวิตไปแล้วหลายรายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ก็ประสบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด หลังคลื่นร้อนเข้าไปถาโถม จนส่งผลให้ได้เกิดไฟป่าขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ที่รัฐนิวเม็กซิโก ปรากฏว่า ไฟป่าได้เริ่มคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว โดยมีรายงานว่า เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 ราย หลังไฟป่าเผาผลาญพื้นที่ต่างๆ ไปแล้วกว่า 23,000 เอเคอร์ พร้อมกับบ้านเรือนของประชาชนที่มอดไหม้เพราะไฟป่าไปแล้วกว่า 500 หลังคาเรือน
ว่ากันถึงสถานการณ์โดยทั่วไปในสหรัฐฯ ตามการเปิดเผยของหน่วยงานที่เฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนกับสุขภาพของประชาชน ก็ระบุว่า ประชากรของสหรัฐฯ เกือบ 100 ล้านคน ณ เวลานี้ กำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาพอากาศที่ร้อนจัดอย่างสุดขั้ว หรือระดับเอ็กซ์ตรีม นั่นเอง
ขณะที่ หลายๆ เมือง หลายๆ ประเทศ กำลังผจญกับสภาพอากาศร้อนจัด แต่ปรากฏว่า ในพื้นที่หลายเมืองของออสเตรเลีย กลับเผชิญกับอากาศหนาว ถึงหนาวจัด หลังอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างฮวบฮาบกระทันหัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น ที่นครเมลเบิร์น ลดลงจนต่ำกว่า 2.2 องศาเซลเซียส เมืองบริสเบน อยู่ที่ 7.7 องศาเซลเซียส เมืองโฮบาร์ต อากาศหนาวเป็นประวัติการณ์ที่อุณหภูมิ 7.2 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของออสเตรเลีย นั้นอุณหภูมิติดลบ 3.3 (-3.3) องศาเซลเซียส เรียกว่าต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ต้องนับเป็นความวิปริตแปรปรวนในสภาพอากาศของโลกเราจนน่าวิตกโดยแท้