สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองจากสวีเดน เปิดเผยเมื่อ17 มิ.ย. ว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ติดตั้งในขีปนาวุธและเครื่องบินเพิ่มขึ้นในระดับที่น่ากังวล และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีข้างหน้า

SIPRI รายงานโดยอ้างข้อมูลจากเดือนม.ค.ว่า จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานเพิ่มขึ้นแตะ 3,904 ลูก ซึ่งสวนทางกับจำนวนหัวรบนิวเคลียร์โดยรวมที่มีแนวโน้มลดลง

“ในขณะที่จำนวนหัวรบนิวเคลียร์โดยรวมทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการถอนอาวุธยุคสงครามเย็นนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่น่าเสียดายที่จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานกลับเพิ่มขึ้นทุกปี” นายแดน สมิธ ผู้อำนวยการของ SIPRI ระบุ “แนวโน้มดังกล่าวดูเหมือนจะดำเนินต่อไปและรวดเร็วขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง”

นายสมิธกล่าวว่า ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และอาวุธนิวเคลียร์กำลังมีบทบาทมากกว่าในช่วงหลังสงครามเย็น โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มักแสดงแสนยานุภาพด้วยการซ้อมรบอยู่เป็นประจำ ท่ามกลางสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่ในยูเครน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัสเซียและสหรัฐถือครองอาวุธนิวเคลียร์รวมกันเกือบ 90% ของทั้งหมดทั่วโลก ส่วนทางด้านจีนนั้น แม้ว่าจะถือครองน้อยกว่ามาก แต่ SIPRI ประมาณการว่าจำนวนนิวเคลียร์ของจีนเพิ่มขึ้นแตะ 500 ลูก จาก 410 ลูกในปีก่อนหน้า    

แต่ว่า รายงานของ SIPRI ที่กล่าวถึง "จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ของจีน" ไม่ได้เปิดเผยแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และไม่ได้รับการยอมรับจากทางการจีน ตามข้อมูลของรายงาน SIPRI หัวรบนิวเคลียร์ที่ถูกติดตั้งไว้ของสหรัฐและรัสเซียมีจำนวน 1,770 และ 1,710 ลูกตามลำดับ ในขณะที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสมี 120 และ 280 ลูก แต่จีนมีเพียง 24 ลูกเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่ารายงานจะระบุว่า "หัวรบนิวเคลียร์ของจีนบางส่วนอยู่ในสถานะพร้อมรบสูง" จำนวนของมันก็ยังน้อยกว่าประเทศนิวเคลียร์อื่นๆ อย่างมาก วอชิงตันโพสต์ยังยอมรับว่า "จีนมีหัวรบนิวเคลียร์น้อยกว่า 5% ที่ติดตั้งบนขีปนาวุธ" ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศนิวเคลียร์อื่นๆ ก็ยังน้อยกว่าอย่างมาก

การเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ICAN) ได้กล่าวในเดือนเมษายนของปีนี้ว่า ประเทศสมาชิกของนาโตที่นำโดยสหรัฐอเมริกาจะจัดการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในโปแลนด์ การกระทำดังกล่าวละเมิดสนธิสัญญาการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ องค์กรดังกล่าวได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาถอนอาวุธนิวเคลียร์ออกจากยุโรปก่อนหน้านี้ เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้สถานการณ์บานปลาย ตามข้อมูลของ ICAN แสดงว่าสหรัฐอเมริกาได้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 150 ลูกในฐานทัพอากาศของเยอรมนี อิตาลี ฮอลแลนด์ เบลเยียม และตุรกี แต่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการใดๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเสนอโดยสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ให้กองทัพสหรัฐฯ ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธีในเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์โดยตรงต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำลายสมดุลย์ยุทธศาสตร์ของภูมิภาคโดยฝ่ายเดียว และทำให้การแข่งขันทางทหารในภูมิภาครุนแรงขึ้น โดยสรุปแล้ว โลกจะถูกปกคลุมอีกครั้งด้วยเงาของอาวุธนิวเคลียร์