"เลขาฯ กกต."  ระบุพบมีร้องเรียนเลือก สว.  จำนวน 333 เรื่อง ยอมรับจับคนโกงไม่ง่าย เหตุเพราะมีทั้งอำนาจ-เงิน-ความรู้ เผยต้องให้ความเป็นธรรม 2 ฝ่าย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่คุมเลือกระดับประเทศ อย่าปล่อยประท้วงทำเสียเวลา 'พิชัย' นั่งประธานกมธ.งบฯ แย้มเข้าถกในสภาฯ วาระ 2-3 ส.ค.นี้ บอกไม่ทราบ "ฝ่ายค้าน" จ่อยื่นศาลปกครองยับยั้งดิจิทัลวอลเล็ต ขณะที่ "นิกร" สยบลือแก้ รธน.โละ "ปาร์ตี้ลิสต์" ลั่นรัฐบาลไม่ตั้งธง-กติกาเลือกตั้งอยู่ที่ สสร.

 ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 มิ.ย.67 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมอบรมคณะกรรมการประจำสถานที่เลือก (กปล.) สว.ระดับประเทศ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยประจำสถานที่คัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการเลือกระดับประเทศ ในการปฏิบัติงานการคัดเลือกสว.ระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย.67 นี้

 โดย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวภายหลังมอบนโยบาย ว่า เราผ่านมา 2 สนาม ทั้งการเลือกระดับอำเภอ และระดับจังหวัด โดยการเลือกระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย. กปล. จะใช้ส่วนผสมระหว่างส่วนกลางกับจังหวัด คิดว่าด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการเลือกทั้ง 2 ครั้ง จะทำให้การเลือกในระดับประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกในระดับอำเภอวันที่ 9 มิ.ย. และระดับจังหวัดวันที่ 16 มิ.ย. มี 39 เรื่อง ถือว่ามีจำนวนไม่มาก ส่วนในระดับประเทศได้กำชับเจ้าหน้าที่ว่าต้องแม่นในข้อกฎหมาย และต้องบริหารเวลา อย่าให้ช้าหนึ่งกลุ่มแล้วเสียเวลาไปทุกกลุ่ม และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้สมัครด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ส่วนกรณีที่เกิดปัญหาให้มีการชี้แจงสิทธิของผู้สมัครว่าสามารถเขียนคำทักท้วงได้ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ใช้คำวินิจฉัย และให้สิทธิผู้สมัครในการไปดำเนินการ จะเป็นที่ไหนก็แล้วแต่ที่เขาจะสะดวก
 “การเลือกระดับประเทศ กปล. จะต้องบริหารเวลา อย่าให้ผู้สมัครประท้วง ถ้าเกิดปัญหาให้ กปล. ชี้แจง และให้ผู้สมัครที่ไม่เห็นด้วยเขียนแบบฟอร์มทักท้วง อย่าปล่อยให้ต่อล้อต่อเถียงจนให้คนอื่นเสียเวลา ผู้ทักท้วงจะไปใช้สิทธิที่ไหนก็ได้ แต่อย่ามาใช้ในเวทีนี้เพื่อประโยชน์อะไรผมไม่รู้ คุณสามารถรักษาสิทธิของคุณได้ แต่ต้องไม่ทำให้คนอื่นเสียเวลา” นายแสวง ระบุ
 

เมื่อถามว่า ยังมีข้อกังวลเรื่องการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการล้มการคัดเลือก สว. หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ได้กังวล แต่ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบกระบวนการ ต้องรักษากระบวนการการเลือก สว. ไว้ นั่นคือการรักษาเป้าหมายให้ได้ สว. ครบ 200 คน ตามระยะเวลาที่กำหนด ถ้ากระบวนการมีปัญหาอาจมีคนนำไปร้องให้การเลือกเป็นโมฆะ จึงต้องพยายามบริหารสถานการณ์ ปิดช่องว่างเหล่านี้ ให้ผู้ปฏิบัติงานรับทราบว่าเรากำลังอยู่ตรงไหนทำหน้าที่อะไร เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสบายใจในการทำงาน


 เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ กกต. พบความเคลื่อนไหวในการทุจริตเลือก สว. 4 รูปแบบ ว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายอย่างที่เราเคยได้ยิน White Collar Crime หรือ อาชญากรรมคอปกขาว คือผู้กระทำเป็นผู้ที่มีความรู้ มีอำนาจ มีทุน ยิ่งถ้าเป็นการเมืองก็จะมีเครือข่ายมีผู้สนับสนุน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองอยู่แล้ว และเชื่อว่ามีอยู่ทุกประเทศ ซึ่งข้อมูลที่เรารับมามีทั้งเป็นเบาะแส เรื่องเล่า เรื่องคนนำมาร้อง อย่างเรื่องรับจ้าง หรือจ้างคนลงมาสมัคร ให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดทั้งนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ

 ทั้งนี้ สำนักงานฯได้ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชุดสืบสวนสอบสวน ตำรวจที่ทำงานร่วมกันเข้าไปดู แต่เกิดขึ้นใน 2-3 วันนี้ เราก็จะดูว่าจะสามารถป้องกัน ป้องปราม หรือจับกุมได้อย่างไร อย่างกรณีที่มีข่าวมีการเปิดโรงแรมจองห้องพักเพื่อล็อบบี้กันนั้น โรงแรมใกล้สถานที่เลือกมีไม่เยอะ เราก็ตรวจสอบพบว่ามีผู้สมัครมาจองห้อมเต็มหมด เพราะสะดวกต่อการเดินทางในวันที่ 26 มิ.ย. แต่จะมีอะไรมากกว่านั้นหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่สำนักงานฯไปดูแล ทั้งนี้อยากฝากไปยังผู้สมัครว่าท่านจะต้องไปรับผิดชอบประเทศชาติ อยากให้เคารพกฎหมาย

 นายแสวง ยังยืนยันว่า การเลือก สว. จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ ความผิดที่เกิดขึ้นมีอยู่ 3 กลุ่ม รวม 333 เรื่อง 200 เรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการลงผิดกลุ่ม รู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิสมัคร ซึ่งศาลฎีกา และ กกต. ได้วินิจฉัยไปบางส่วนแล้ว กลุ่มที่ 2 การดำเนินการในวันเลือก ซึ่งการเลือกทั้งในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด มีอยู่ 39 เรื่อง ซึ่ง กกต.จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกลำดับถัดไป กลุ่มที่ 3 การเลือกที่ไม่สุจริต มีประมาณ 90 เรื่อง ซึ่งต้องใช้เวลา แต่คิดว่าจากจำนวนทั้งหมดยังถือว่าน้อยถ้าเทียบกับจำนวนผู้ที่สมัครทั้งประเทศที่มีกว่า 4 หมื่นคน

 ส่วนกรณีมีฝ่ายการเมืองเข้ามาสนับสนุนผู้สมัครในการคัดเลือก สว. นั้น นายแสวง กล่าวว่า ตามกฎหมายให้คนที่เป็น สว. ต้องเป็นกลาง แต่ถ้าพูดกันแบบทั่วไปก็คือการเมือง แต่กฎหมายห้ามนักการเมือง 2 – 3 เรื่อง คือห้ามช่วยให้ได้รับหรือเป็น สว. และผู้สมัครเองก็ต้องไม่ให้ฝ่ายการเมืองช่วยให้ตัวเองได้รับการเลือก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้ง หรือให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่การเมืองบางที่เป็นเรื่องของการสมยอมสมประโยชน์กัน ทำให้ กกต. ทำงานยากขึ้นในการที่จะเข้าไปจับกุม แต่ก็มีในบางส่วนที่เป็นเรื่องที่ กกต. หาเอง จึงให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย เพราะเมื่อมีการกล่าวหาว่ามีการให้ทรัพย์สิน แลกตำแหน่ง เช่น มาอยู่ทีมเดียวกัน ถ้าตนได้เป็น สว. ก็จะให้มาเป็นผู้ช่วย หรือนั่งเป็นกรรมาธิการ แต่กฎหมายได้ออกแบบไว้หมดแล้ว ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อไทม์ไลน์แน่นอน.

 ที่รัฐสภา นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ว่า ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี พร้อมที่จะตั้งอนุกมธ.ฯ เพื่อพิจารณาต่อจากนี้ โดยการประชุมในวันนี้มีวาระคือการแบ่งหน้าที่กัน ซึ่งที่ประชุมเลือกตนเป็นประธาน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางการชี้แจง เอกสาร จำนวนบุคคลที่จะเข้ามาชี้แจง

 นายพิชัย กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าหลังจากนี้อีกประมาณ 2 สัปดาห์จะมีการประชุมอนุกมธ.ได้ หวังว่าทั้งหมดจะเดินไปตามขั้นตอน และสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ ในวาระ 2-3 กลางเดือนสิงหาคม สำหรับตนเห็นว่าทุกคนให้ความสนใจเรื่องงบประมาณเป็นอย่างมาก และในฐานะประธานกมธ.ฯ จะพยายามใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร และมีการปรับปรุงกันต่อไป
 

เมื่อถามว่า กรอบเวลาที่วางไว้ว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระ 2-3 ในเดือนกันยายนจะขยับเข้ามาเป็นเดือนสิงหาคมใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า จะพยายามให้อยู่ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม

 เมื่อถามว่า ในการตั้งอนุกมธฯ ในครั้งนี้จะเป็นการตั้งตามรายกระทรวงหรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า วิธีดูเป็นรายมาตรา เมื่อถามต่อถึงแนวทางในการพิจารณาเรื่องงบประมาณโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนนั้นมีงบกลางอยู่ อย่างไรก็ตาม มีเวลาพิจารณาว่าจะใช้อย่างไร เมื่อไหร่

 เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นศาลปกครองเพื่อยับยั้งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากผ่านวาระ 3 แล้วนั้น นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ
 วันเดียวกัน นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไขกติกาเลือกตั้ง ให้มี สส. เขต จำนวน 500 เขตเท่านั้น ว่า เป็นประเด็นที่มโนไปเอง ไม่มีที่มาและไม่มีที่ไป ในฐานะที่ตนทำงานในส่วนของรัฐบาล เรื่องดังกล่าวไม่มีการตั้งธงไว้ เพราะการออกแบบกติกาเลือกตั้งให้เป็นแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่จะเกิดขึ้น หลังจากการทำประชามติเพื่อให้เกิดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนเป็นผู้ดำเนินการ


 "การออกแบบให้มี สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ ถือเป็นความลงตัวในระบบการเมืองไทย ที่มาของการออกแบบให้ สส. มาจาก 2 ระบบ เกิดจาก สสร. ชุดที่มาจากการเลือกของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเป็นการออกแบบจากประชาชน ไม่มีฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงหรือตั้งธงไว้" นายนิกร กล่าว


 นายนิกร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าฝั่งรัฐบาลจะไม่รับลูกเพื่อไปดำเนินการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากธงขณะนี้เดินไปในแนวทางการออกเสียงประชามติเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้นหากคิดจะแก้เป็นรายมาตรา ไม่จำเป็นต้องมี สสร. เรื่องดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีที่มาและไม่มีที่ไป แม้ว่าในกระบวนการของรัฐสภาจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ทำเพราะนโยบายที่เกิดขึ้น คือ เดินไปสู่การทำประชามติให้มี สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นการออกแบบกติกาใดๆขึ้นอยู่กับ สสร. ที่จะพิจารณา


 "เรื่องนี้ใครจะเสนอ เพราะนโยบายรัฐบาลมีธงไว้อยู่แล้วว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย หรือฝ่ายค้านจะเสนอเองหรือไม่" นายนิกร กล่าว
 เมื่อถามความเห็นต่อจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา นายนิกร กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนายืนยันในจุดยืนเดิมที่เคยเป็นมาตั้งแต่ที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ยุคนั้นมี สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ช่วงนั้นไม่มีสักมาตราเดียวที่ฝ่ายการเมืองคิดให้ ดังนั้นจุดยืนวันนี้ คือ พรรคจะยึดตามประชาชน