เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง สำหรับ วันเกิดของ “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 มิถุนายนของทุกปี

โดย “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” เราถือกำเนิดขึ้นมาในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ซึ่งแปลกแต่จริงว่า เป็นวันเดือนปีที่ตรงกับในช่วงเวลาเดียวกับการเกิดของ “สงครามเกาหลี” พอดี คือ วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) เช่นกัน

กล่าวถึง “สงครามเกาหลี” ก็เป็นการสู้รบกันระหว่างชนชาติเกาหลีด้วยกัน คือ “เกาหลีเหนือ” กับ “เกาหลีใต้” แต่ทั้งสองฝ่ายมีแนวคิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างขั้ว ต่างค่าย ภายหลังจากสิ้นสุดของมหายุทธ์ สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว

โดยทางฝ่ายเกาหลีเหนือ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงเปียงยาง มีแนวคิดไปในทาง สังคมนิยมคอมมิวนิสต์

สวนทางแตกต่างจากทางฝั่งเกาหลีใต้ ที่มีแนวคิดของระบอบเสรีประชาธิปไตย

แน่นอนว่า ทั้งสองฟากฝั่งต่างก็มีประเทศมหาอำนาจ และชาติอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน ให้การสนับสนุนในแต่ละฝ่าย

อย่าง “เกาหลีเหนือ” ก็มี “อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย” และ “จีนแผ่นดินใหญ่” ซึ่งเป็นสองชาติพี่เบิ้มใหญ่ของทางฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุน

ขณะที่ “เกาหลีใต้” มีกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดย “สหรัฐอเมริกา” ผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยให้การสนับสนุน ซึ่งในกลุ่มนี้ ก็มี “ประเทศไทย” เรายืนเคียงข้างอยู่ด้วย ถึงขั้นส่งทหารไปช่วยเกาหลีใต้ รบกับเกาหลีเหนือ ในสงครามดังกล่าว จนสร้างชื่อโด่งดังในนามว่า “พยัคฆ์น้อย” ให้โลกต้องร่ำลือ พร้อมกับได้เหรียญกล้าหาญมาติดประดับหน้าอกกัน

สำหรับ การถือกำเนิดของสงครามเกาหลี ในวันเดียวกันหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493นั้น ก็เป็นทางฝ่ายของเกาหลีเหนือ โดย “กองทัพประชาชนเกาหลี” หรือ “เคพีเอ” ภายใต้การสนับสนุน “อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย” และ “จีนแผ่นดินใหญ่” ยกพลจากทางฝั่งเกาหลีเหนือ ข้ามพรมแดนเข้าไปรุกราน “เกาหลีใต้”

ส่งผลให้ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอสซี” มีมติให้จัดตั้งกองทัพในลักษณะคล้ายกองทัพเฉพาะกิจ พร้อมกับส่งเข้าไปในเกาหลีใต้ เพื่อขับไล่กองทัพของเกาหลีเหนือ ซึ่งทางยูเอ็นเอสซี กำหนดให้เป็นผู้รุกราน ออกไปจากดินแดนของเกาหลีใต้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีกองกำลังจาก 21 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยเราด้วยนั้น เข้าร่วมทัพในการขับไล่เกาหลีเหนือ และกองกำลังผสมชาติที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ โดยสถานการณ์การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด โดยกองทัพไทยเราได้ร่วมปะทะศึก จนได้รับการกล่าวชื่นชมยกย่อง พร้อมกับรางวัลเกียรติยศเป็นประการต่างๆ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

กระทั่ง กองทัพกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตย สามารถขับไล่กองทัพเกาหลีเหนือ และกองกำลังของชาติพันธมิตรของขั้วค่ายโลกคอมมิวนิสต์ ที่จากเดิมเคยมายึดได้ถึงกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ จนถอยร่นไปเรื่อยๆ และพ้นเขตแดนเกาหลีใต้ หรือที่เรียกว่า เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ อันเป็นพื้นที่ใกล้กับจุดเริ่มต้นสงครามได้ในที่สุด

ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายกำหนดให้พื้นที่บริเวณเส้นขนานดังกล่าว เป็น “เขตปลอดทหาร” หรือ “ดีเอ็มแซต” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 (พ.ศ. 1953) หรืออีกกว่า 3 ปีถัดมา พร้อมกับการยุติการสู้รบ

ทว่า แม้การสู้รบจะยุติลงไป แต่ทั้งสองเกาหลี ยังคงอยู่ใน “ภาวะสงคราม” ที่ “เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้” เผชิญหน้ามาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลาง กระทบกระทั่งและการยั่วยุที่มีอยู่ระยะๆ ให้ชาวโลกต้องอกสั่นขวัญแขวน ว่าสถานการณ์อาจจะลุกลามบานปลายกลายเป็นการสู้รบ ที่มิใช่สร้างความเดือดร้อนแต่ในเฉพาะคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโลกเราโดยส่วนรวมอีกต่างหากด้วย