ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากกรณีนายสุรพงษ์  ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายประเสริฐ  จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ส.ส เขต จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคก้าวไกล (กก.) นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา ผู้แทนภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาแนวทางและข้อสรุปการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา หากทุบสะพานสีมาธานี จะส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรและก่อนเริ่มดำเนินการต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและทางคู่ ต้องล่าช้าไปด้วย

โดยมีการชี้แจงและทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสม 2 แนวทาง ดังนี้ 1.ก่อสร้างทางรถไฟยกระดับลอดใต้สะพานสีมาธานีจะมีช่วงที่รถไฟลดระดับลงลอดใต้สะพานแล้วไต่ขึ้นไปเป็นทางยกระดับ ระยะทางประมาณ 1,600 เมตร โดยไม่ต้องทุบสะพาน 2.ก่อสร้างทางยกระดับข้ามสะพานสีมาธานี แนวทางนี้ทำให้รถไฟต้องไต่ระดับเพื่อยกข้ามสะพานไม่สามารถลดระดับหยุดที่สถานีนครราชสีมาได้ เนื่องจากระยะทางไม่เพียงพอ อาจต้องย้ายสถานีไปอยู่ที่เหมาะสมหรือวิ่งผ่านสถานีไปก่อน ถึงจะค่อยๆลดระดับเข้าสู่สถานีชุมทางถนนจิระที่อยู่ห่างจากสถานีนครราชสีมา ประมาณ 2.6 กิโลเมตรและอาจส่งผลกระทบกับรถไฟความเร็วสูงที่ต้องหยุดที่สถานีนครราชสีมาอีกด้วย แต่เป็นรูปแบบขัดแย้งกับฉันทานุมัติทุกภาคส่วนของชาวโคราชและมติคณะอนุกรรมการจัดการจราจรทางบก (อจร.) นครราชสีมา เห็นชอบให้ปรับรูปแบบสร้างทางรถไฟยกระดับผ่านเมืองและทุบสะพานสีมาธานีรวมทั้งช่วงผ่านกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี มีความสูงเกิน 5 เมตร ให้รถยนต์ขนาดใหญ่สามารถลอดผ่านได้สะดวก เพื่อลดผลกระทบต่อวีถีชีวิตในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ที่ประชุมไม่ได้ข้อยุติ



ด้านนายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้สอบถามข้อมูลในพื้นที่หากเป็นทางลอดใต้สะพาน ประชาชนไม่ยอมรับและเกิดปัญหาแน่ ถ้ายกระดับรถไฟทางคู่อยู่ระดับเดียวกับรถไฟความเร็วสูง ประชาชนยอมรับได้ จึงรับข้อเสนอของที่ประชุมมาพิจารณาและมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการออกแบบเป็นภาพกราฟิกทั้ง 2 แนวทางและระดับความสูงของแต่ละตอม่อที่ยกระดับผ่าน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนสามารถนำไปสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ต่อไปยืนยันไม่ล่าช้าเป็นไปตามกระบวนการและกระทรวงคมนาคมยึดถือสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องก็จะตอบสนองในทุกมิติ

ล่าสุดวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุมมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง สว่างเมตตาธรรมสถานโคราช นายสุรวุฒิ  เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา ในฐานะกรรมการบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด พร้อมนายชัยวัฒน์  วงศ์เบญจรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหอการค้านครราชสีมา จัดเวทีชี้แจงและความคืบหน้ารูปแบบการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมือง กรณีทางระดับพื้นและยกระดับให้กับผู้ประกอบการค้าและภาคประชาชนให้ความสนใจมาร่วมกิจกรรมหลาย 100 คน เนื่องจากเห็นตัวอย่างทางรถไฟระดับดินแล้วสร้างสะพานเกือกม้าหรือทางลอดผ่านได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับสองฝั่งรถไฟทางคู่ ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น



โดย นายสุรวุฒิ กล่าวว่า ภาคเอกชนมีมติให้รถไฟทางคู่ยกระดับผ่านเมืองตลอดเส้นทางในระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อผลลดกระทบและปัญหาอุปสรรคทางข้ามทางรถไฟที่เป็นจุดตัดทางเชื่อมชุมชน รูปแบบที่ รฟท.นำเสนอจะส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจหลายประเด็น ดังนี้ 1. ทัศนีย์ภาพของเส้นทางเข้าสู่ตัวเมือง หากยกระดับระบบการเชื่อมโยงการคมนาคมกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและไม่ปิดกั้นการเชื่อมโยงเส้นทาง จะทำให้ภาพรวมของเมืองดีขึ้น 2.บริเวณสี่แยกอัมพวันใต้สะพานสีมาธานีก่อสร้างปี 2508 และต่อเติมแล้วเสร็จปี 2530 ส่งผลกระทบธุรกิจการค้าขายซบเซา คนในพื้นที่ยอมรับเพื่อส่วนรวมและความเจริญของเมือง ขณะนี้เรากำลังมีสิ่งใหม่เข้ามา หากมีสะพานประกอบกับรถไฟทางคู่มาลอดใต้สะพานจะทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นเครื่องหมายบวกปิดกั้นแนวเขตทางทั้งหมดในรัศมี 1.6 ตารางกิโลเมตร ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเงียบเหงาซบเซามากกว่าเดิม ดังนั้นการยกระดับให้ลอยข้ามเมืองไป ทำให้ชุมชนดำรงชีพได้อย่างปกติ เศรษฐกิจจะเติบโต

ส่วน 3.ผลกระทบการระบายน้ำท่วม หากยกระดับรถไฟทางคู่ จะสามารถบริหารจัดการพื้นที่ใต้รางรถไฟให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากกว่าทางระดับดิน 4.ต้นทุนการเสียเวลาและสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงในการเดินทาง การใช้ชีวิตไปมาหาสู่กันต้องเพิ่มระยะทางจากเดิม ข้อมูล การสัญจรผ่านถนนสืบศิริ มีปริมาณยานพาหนะวันละ 20,000 คัน ในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งงบทุบสะพานประมาณ 400 ล้านบาท และก่อสร้างทางลอด 800 ล้านบาท รวมเป็น 1.2 พันล้านบาท หากเปรียบเทียบกับชาวโคราชต้องอยู่กับรถไฟ การลงทุนคุ้มค่าในระยะยาว ดังนั้นการยกระดับรถไฟทางคู่เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญสำหรับเมืองในอนาคต



นายชัยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างภาครัฐและความต้องการของประชาชนที่ยังสับสนทางรถไฟยกระดับและการทุบสะพานสีมามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ตนในฐานะผู้แทนภาคเอกชนได้เข้าร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคมมาตลอด วันที่ 15 มิ.ย ที่ผ่านมา รมว.คมนาคม ให้นโยบายสนับสนุนดำเนินการตามความต้องการของชาวโคราช สิ่งที่รอคอยต้องการเห็นแบบตัวจริง ที่ผ่านมามีแต่กราฟิกและปรับแบบมาตลอดจึงเกิดความไม่เข้าใจ ทั้งนี้ทางรถไฟผ่านตัวเมืองโคราชในอนาคตต้องอยู่กันเป็น 100 ปี เราจึงออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลดำเนินการตามมติทุกภาคส่วน