วันที่ 24 มิ.ย.2567 พันเอกริชฌา  สุขสุวานนท์  รองโฆษกกองทัพบก  กล่าวถึงกรณีนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการทหาร ตั้งข้อสังเกตุพื้นที่ทหารซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ แต่เจ้าของพื้นที่ไร้อำนาจเรียกคืน เปรียบเป็นพื้นที่เอกราชของกองทัพ ที่ไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนให้กับสังคม ในประเด็นที่เกี่ยวกับที่ดินทหารในหลายประการ กองทัพบก จึงขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและป้องกันการบิดเบือนข้อมูลทั้งที่เจตนาและด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ดังนี้ ที่ดินทหาร คือ ที่ดินราชพัสดุ ตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562  โดยมี กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วน กองทัพบก เป็นผู้ใช้ที่ราชพัสดุ ตามกฎกระทรวง การใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563  โดยเป็นการใช้ตามอำนาจหน้าที่ของกองทัพ ด้านความมั่นคง และการพัฒนาประเทศ ซึ่งยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ราชพัสดุ และเนื่องจากพื้นที่ของ กองทัพบก เป็นพื้นที่เพื่อความมั่นคง มีชั้นความลับทางราชการทหาร จึงทำให้บุคคลภายนอกเข้าถึงได้ยาก การไม่ได้รับรู้ข้อมูลเชิงลึก อาจทำให้ถูกมองว่า กองทัพบก ทำอะไรได้ตามใจ ซึ่งแท้จริงแล้ว กองทัพบกก็ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆพื้นที่ไม่ลงสี หรือสีขาวนั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กำหนดข้อยกเว้นสำหรับที่ดินของกองทัพ เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญต่าง ๆ เช่น คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงที่ตั้งโรงงานต่าง ๆ ของกองทัพ รวมถึงระบบด้านความปลอดภัยและสาธารณูปโภคที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน

การก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ กองทัพบก ยังคงต้องเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเช่นกัน หากหน่วยงานใดมีความประสงค์จะขอใช้ที่ราชพัสดุในความครอบครอง ดูแลและใช้ประโยชน์ ของกองทัพก็สามารถกระทำได้ตาม กฎกระทรวง การใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2563  ข้อ 3 โดยขอความเห็นชอบจาก กองทัพในฐานะส่วนราชการที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ แล้วยื่นคำขอไปยังกรมธนารักษ์หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันกองทัพก็ได้ยินยอมให้ส่วนราชการใช้หลายพื้นที่ เช่น บริเวณที่ตั้งของรัฐสภา, มอเตอร์เวย์ทั้งสายตะวันตกและสายตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงที่ตั้งสำนักงานของส่วนราชการอื่น ๆ เป็นต้น

กองทัพบกตระหนักดีว่าการได้รับการบริการในด้านต่าง ๆ ของประชาชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ที่เข้าไปยึดถือครอบครอง (บุกรุกที่ดินของรัฐ) ในพื้นที่ครอบครองของกองทัพบกโดยมิชอบ ซึ่งบางพื้นที่เป็นพื้นที่ความมั่นคงตามแนวชายแดน ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกองทัพบก ได้นำที่ดินที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจของกองทัพบก ร่วมกับกรมธนารักษ์ จัดทำโครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์” ซึ่งเป็นการจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่างๆ นำมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ จึงขอให้ประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการและติดตามข่าวสารได้ที่สำนักงานธนารักษ์และหน่วยทหารในพื้นที่