กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำรวจอุตสาหกรรมอาหารเส้นของเกาหลีใต้ พบมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นเมนูอันดับ 4 ที่ชาวเกาหลีบริโภคเป็นประจำ และการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่อันดับที่ 2 ของโลก ชี้เป็นโอกาสสินค้าไทยที่จะขยายตลาด ทั้งเส้นผัดไทย วุ้นเส้น มาม่า แนะผลิตเป็นสินค้าพร้อมปรุง 
จะยิ่งเพิ่มโอกาสขาย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารเส้นของเกาหลีใต้ และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารเส้นของไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารเส้นเป็นอย่างมาก อยู่ในอันดับ 4 ของเมนูอาหารที่มีการบริโภคเป็นประจำ เฉลี่ยแล้วมีการรับประทานถึง 52.1 ครั้งต่อปีต่อคน โดยเฉพาะการบริโภคอาหารเส้นชนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อคนที่อยู่ในอันดับที่ 2 ของโลก

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารเส้นของเกาหลีใต้ พบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มอาหารที่ทำจากพืชที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และถูกนำมาใช้ในการทำอาหารเส้น เพื่อเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งโปรตีนสูง แคลเซียมสูง แคลอรี่ต่ำ และคาร์โบไฮเดรตต่ำ และยังสนใจในเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำให้มีการควบคุมการใช้พลาสติกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการใช้วัสดุในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง มีการทำตลาดร่วมกับร้านอาหารที่มีชื่อเสียง เพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการบุกตลาดต่างประเทศ เช่น การร่วมมือเจ๊ไฝ เชฟมิชลินสตาร์ชื่อดังของไทย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Shin ramyun x Jayfai บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสต้มยำกุ้งและต้มยำกุ้งผัดแห้ง ซึ่งมีแผนที่จะปรับรสชาติเผ็ดให้เข้ากับผู้บริโภคเกาหลีในภายหลัง และเจ๊ไฝยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตกิตติมศักดิ์การท่องเที่ยวไทย-เกาหลีแล้วด้วย

ส่วนช่องทางการกระจายและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารเส้น (ยกเว้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ในปี 2566 ร้านค้าปลีกที่มีการจำหน่ายอาหารเส้นมากที่สุด ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 30.3 ตามด้วยซูเปอร์มาร์เกต ร้อยละ 22.6 ร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต ร้อยละ 22.4 และร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 16.1 และการค้าปลีกของอาหารเส้นที่มีการจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ อุด้ง ร้อยละ 28.8 ตามด้วย บะหมี่เย็น ร้อยละ 20.8 บะหมี่เกาหลีหรือ Kalguksu ร้อยละ 15.2 และพาสต้า ร้อยละ 7.7 ส่วนการค้าปลีกสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (แบบซองและถ้วย) มากที่สุด ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 29.1 ตามด้วย ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 23.0 ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 21.7 และร้านค้าย่อยของซูเปอร์มาร์เกต ร้อยละ 15.7

นายภูสิตกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมอาหารเส้นในเกาหลีใต้ ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยที่สำคัญหลายประการ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมความต้องการของผู้บริโภคต่อสินค้าใหม่และน่าสนใจ รวมถึงการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะการนำเสนอผ่านสื่อบันเทิงและการร่วมมือในระดับท้องถิ่นซึ่งส่งผลให้อาหารเส้นของเกาหลีหลายชนิดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน

โดยโอกาสของผู้ส่งออกไทย สินค้าอาหารเส้นของไทยมีการนำเข้ามายังเกาหลีใต้เป็นอันดับต้นของสินค้าอาหารเส้นนำเข้า และมีวางจำหน่ายอยู่ที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของเกาหลีอยู่แล้ว อาทิ เส้นผัดไทย วุ้นเส้น เป็นต้น ในส่วนของมาม่า มีการจำหน่ายในช่องทางออน์ไลน์ เมนูอาหารเส้นของไทยหลายชนิดเป็นที่รู้จักในวงกว้างของผู้บริโภคเกาหลี แต่ในการพัฒนาสินค้าเพิ่มเติม หากเป็นสินค้าที่สามารถปรุงได้ง่าย โดยเฉพาะชุดอาหารพร้อมปรุง ก็จะทำการตลาดได้อย่างดี เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็วเป็นหลัก รวมถึงการปรับรสชาติให้เหมาะสม การปรับเพิ่มปริมาณ การลดความเผ็ดหรือความเข้มข้นของเครื่องปรุงรสลง และการสร้างสินค้าให้มีความหรูหราและมีโภชนาการทางอาหารสูง ก็จะสามารถขยายโอกาสการค้าในเกาหลีได้ดียิ่งขึ้น

#ข่าววันนี้ #กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ #DITP #กระทรวงพาณิชย์ #บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป #เกาหลี