Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.77 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้าที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 36.62-36.78 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดย S&P Global ที่ออกมาดีกว่า ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาด และการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้ง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP)
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด พร้อมกับเตรียมรับมือความผันผวน หากทางการญี่ปุ่นแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ชะลอลงต่อเนื่อง หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามทั้ง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) เดือนมิถุนายน และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งเราประเมิน โทนการสื่อสารอาจมีลักษณะ Hawkish มากขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าได้ ยกเว้นว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงมากขึ้น อนึ่ง แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาเชื่อมั่นมากขึ้น ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (ล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสราว 87%) แต่เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน เนื่องจากเงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญความเสี่ยงการเมืองฝรั่งเศส ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็มีโอกาสย่อตัวลงบ้าง หากผู้เล่นในตลาดเชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ยังเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 160-161 เยนต่อดอลลาร์ ยกเว้นว่า ทางการญี่ปุ่นจะเริ่มเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงินอีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า อาจต้องเห็นความผันผวนของค่าเงินเยนที่เพิ่มกว่าปัจจุบันพอสมควรก่อน
▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนมิถุนายน และคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน (Inflation Expectations) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยของ ECB ขณะเดียวกัน ประเด็นสำคัญที่จะยังคงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินยุโรปในช่วงนี้ คือ สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส โดยเราคงมุมมองเดิมว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในฝรั่งเศสอาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินและสามารถกดดันให้เงินยูโร (EUR) และตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มอ่อนค่าลง/ปรับตัวลดลงในระยะสั้นได้
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น หากทางการญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในกรณีที่เงินเยนผันผวนอ่อนค่าเร็วและแรงกว่าคาด เช่น เงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับ 160-161 เยนต่อดอลลาร์ ในระยะเวลาสั้นๆ ในส่วนผลการประชุมธนาคารกลางนั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.50% จนกว่าจะมั่นใจว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะทยอยกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไป แม้จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2%-4% แต่นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จนแตะระดับ 3.9% ในเดือนพฤษภาคม
▪ ฝั่งไทย – ความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงินในช่วงนี้ได้ โดยเราประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย จนกว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยจะคลี่คลายลง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ามีกำลังมากขึ้น ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ กดดันให้เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นจากโซนแนวรับได้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท ส่วนฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีความผันผวนอยู่ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทว่าเงินดอลลาร์อาจชะลอการแข็งค่าได้บ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้
โดยเราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์
#ข่าววันนี้ #ค่าเงินบาท #ตลาดเงินตลาดทุน #ดอกเบี้ย #ราคาทอง