นิด้าโพล เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมีดีลลับทางการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลจ้องล้มนายกฯ เศรษฐา แต่ไม่เชื่อจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลเร็วๆ นี้ และเชื่อว่ามีพรรคการเมืองถูกยุบ ด้าน พิธา ไม่กังวลกระแสแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นส.ส.เขตล้วน 500 คน สกัดก้าวไกล
       
     เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง Believe It or Not! ทางการเมืองไทย ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
   

 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับข้อตกลงลับทางการเมือง ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.77 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 31.06 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 10.31 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 3.13 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
   

 ด้านความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับความพยายามของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะล้มรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.45 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 26.03 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 17.71 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 2.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
   

 สำหรับความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 28.70 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย รองลงมา ร้อยละ 28.02 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 15.73 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 2.21 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 

   ส่วนความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 31.15 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 21.60 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 20.61 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 2.98 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการใช้เส้นสายทางการเมืองของผู้สมัครบางคนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 55.42 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 28.55 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 7.63 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 7.48 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
   

 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ส.มีที่มาจากระบบเขตทั้งหมด 500 ที่นั่ง ตัดระบบบัญชีรายชื่อออกไปทั้งหมดเพื่อสกัดพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเป็นข้อมูลจากเพื่อนฝูงในพรรคเพื่อไทย
 

   โดย นายพิธา กล่าวว่า ก่อนจะตอบต้องบอกว่า เมื่อวานนี้ตนปฎิบัติภารกิจที่จังหวัดอุดรธานี และยังไม่มีโอกาสได้ฟังข้อมูลดังกล่าว จึงยังไม่ทราบบริบททั้งหมด แต่ในหลักการคือการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องแก้โดยให้ประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชน ไม่ควรแก้เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่ที่นักการเมือง เป็นหลักที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นต้องเน้นว่า การแก้รัฐธรรมนูญคือการคืนอำนาจให้กับประชาชนในระยะยาว และทำให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงมากที่สุด ไม่ใช่แก้เพื่อให้พรรคหนึ่งได้ประโยชน์กับการแก้รัฐธรรมนูญ
 

   ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขไปในทิศทางดังกล่าว มีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน นายพิธา กล่าวว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในสมัยที่แล้วคือการแก้ไขสัดส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขตจาก 350 คน เป็น 400 คน และปรับสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คน และมีการปรับวิธีการคำนวณ 
     

 เพราะฉะนั้นผมไม่ได้กล่าวหาว่าจะทำให้พรรคได้พรรคหนึ่งได้ประโยชน์ เพราะยังไงที่ผ่านมาพรรคของเราก็ชนะอยู่ดีถึงแม้ว่าจะมีการแก้ ดังนั้นถ้าหลังจากนี้จะมีการปรับสัดส่วนจาก 400 คนให้มีมากขึ้นไปอีก ผมมองว่ามีความเป็นไปได้ในสภา 
     

นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนขอยึดหลักสำคัญว่าการแก้รัฐธรรมนูญมีความจำเป็น รัฐธรรมนูญปี 2560 คือระเบิดเวลา หากจะแก้ต่อไปต้องเอาประชาชนเป็นตัวหลักและให้ประชาชนได้ประโยชน์ อย่าให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้ประโยชน์มากกว่ากัน หากกฎหมายสูงสุดของประเทศทำให้การเลือกตั้งหรือการเข้าสู่อำนาจไม่ยุติธรรมและเอนเอียง จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกต่อไป แทนที่จะสามารถแก้ระเบิดเวลาได้ก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งใหม่ในที่สุด
   

สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่กังวลใจอะไร เพราะเอาประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้งมาก่อนความสามารถในการแข่งขันของพรรคเสมอ เราเชื่อในตัวเราว่าในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่ารูปแบบเกมจะเป็นยังไง เราก็ชนะในเกมที่เค้าดีไซน์ให้เราแพ้มาโดยตลอด นายพิธา กล่าว

     ด้าน นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เทพไท-คุยการเมือง ระบุว่า รัฐบาลเศรษฐา : รถเฟอร์รารี่เปลี่ยนเครื่อง ผมเฝ้าติดตามรอดูรายการ คุยกับเศรษฐา เทปแรกในรูปแบบพูดคุยกันของ นายธีรัตถ์ รัตนเสวี ผู้ดำเนินรายการ ถามข้อสงสัยของสังคม ให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบคลายปมคาใจ ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีตอนหนึ่งที่นายเศรษฐา ได้เปรียบประเทศไทย เป็นรถที่ยังไม่วิ่งเต็มสูบ เหมือน Ferrari 12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6  7 สูบเท่านั้น แล้ว 6  7 สูบเราก็เดินหน้ากันเต็มที่
 

   เมื่อนายเศรษฐายกตัวอย่างเปรียบประเทศไทยเป็นเหมือนรถเฟอร์รารี่แล้ว ทำให้ผมนึกถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลของนายเศรษฐาเช่นกันว่า เปรียบเหมือนรถเฟอร์รารี่ ที่เปลี่ยนเฉพาะเครื่องยนต์ แต่ตัวถังและอุปกรณ์อื่นๆ ก็ยังเหมือนเดิม นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลชุดนี้คือรัฐบาลชุดเดิมในระบอบทักษิณ มีความเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ที่เป็นนายเศรษฐา แต่องค์ประกอบอื่นๆเป็นคนในระบอบทักษิณทั้งนั้น นับตั้งแต่นายตำรวจติดตามหรือนายเวร ก็เคยเป็นนายเวรของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน เลขาส่วนตัวก็เป็นเพื่อนกับคุณอุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
 

   ส่วนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ก็เคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้นายทักษิณสมัยเป็นนายกฯเช่นกัน และรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดกับนายเศรษฐา ก็เป็นคนเก่าในระบอบทักษิณทั้งสิ้น แม้กระทั่งพิธีกรผู้ดำเนินรายการคุยกับเศรษฐา ก็ยังใช้คนที่เคยเป็นโฆษกรัฐบาล สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี
 

   เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นรัฐบาลในระบอบทักษิณ หรือที่เรียกกันตอนนี้ว่า ระบอบทักษิณคืนชีพ ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือตัวนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือนายเศรษฐา ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ ที่มาติดตั้งในรถเฟอร์รารี่ ซึ่งไม่มั่นใจว่าเจ้าของรถเฟอร์รารี่คันนี้ จะใช้เครื่องยนต์เครื่องนี้ไปอีกนานแค่ไหน อาจจะยกเครื่องใหม่ หรือเปลี่ยนเครื่อง นำเครื่องยนต์ใหม่เข้ามาแทนที่ก็ได้
   

 เมื่อนายเศรษฐานำประเทศไทยไปเปรียบกับรถเฟอร์รารี่ ที่มีเครื่อง12 สูบ แต่วิ่งอยู่แค่ 6-7สูบเท่านั้น ผมจึงขออนุญาตนำรัฐบาลนายเศรษฐามาเปรียบเหมือนกับรถเฟอร์รารี่ที่เปลี่ยนเครื่องยนต์ด้วย