"เศรษฐา" ลงพื้นที่อู่ตะเภา ตรวจดูความคืบหน้าปัญหาข้อติดขัดเชื่อมสนามบิน ลั่นต้นปี68 ต้องได้สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน กำชับอย่าให้เกิดปัญหา กระทบเป็นลูกโซ่ พร้อมลุยพื้นที่อีอีซีสั่งเร่งการลงทุนเมกะโปรเจกต์ สร้างเชื่อมั่นดึงนักลงทุน

     ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่พูดคุยหารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รองรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ,นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ,นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ,นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้การต้อนรับ
   

 นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้มาเพื่อติดตามเรื่องของสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาอีอีซี รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ที่ถือว่าเป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลนี้ ซึ่งทำกันมาหลายรัฐบาลแล้ว โดยรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการเชื่อมโยง และเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความล่าช้าอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดมีความสำคัญอย่างยิ่ง
   

 จากนั้น นายจุฬา กล่าวรายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ความจริงแล้วสัญญาเสร็จตั้งแต่ปี 2562 และควรจะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 แต่เนื่องจากมีการระบาดของโควิด-19 บริษัทเอกชนมีปัญหา ทำให้ไม่สามารถเริ่มโครงการได้ ขณะเดียวกันดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น และค่าก่อสร้างยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้เขาไม่สามารถที่จะหาธนาคารมาให้กู้เงินได้ ต้องใช้วิธีการเจรจา ซึ่งปัจจุบันมีหลักการที่พยายามจะนำเสนอในกระบวนการ โดยในเดือนก.ค.67 ตั้งเป้าจะมีการนำเสนอโซลูชันในการเจรจาเข้าคณะกรรมการ สกพอ. และนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หากเห็นหลักการ ก็จะรู้ตัวสัญญาที่จะแก้ไขใหม่ ประมาณสิ้นปี 2567 จะเซ็นสัญญาแก้ไขใหม่ได้ และจะเริ่มก่อสร้างในต้นเดือนธ.ค.67 หรือต้นเดือนม.ค.68

     โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า  ถ้าเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังมีความล่าช้าอยู่ จะสร้างความมั่นใจให้เอกชนอย่างไร มันก็เป็นการอีหลักอีเหลื่อ หากสถานการณ์เป็นไปแบบนี้ ตรงนี้อยากให้ชี้แจงความกระจ่าง โดยโครงการนี้ควรจะเริ่มก่อสร้างปี 2564 แต่เกิดปัญหาโควิด-19 เรื่องผู้รับเหมาและเรื่องอะไรต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ สัญญาอยู่ระหว่างการต่อรองอันนี้ตนไม่ได้พูดถึงความชอบธรรมหรือความถูกต้อง ตนจะสรุปข้อมูลว่าเป็นลักษณะนี้ ในระหว่างที่เราเริ่มงาน 2-3 ปีเป็นเรื่องการต่อรองว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งขณะนี้เวลาของสัญญาหมดไปแล้ว แต่เดี๋ยวจะมีการหาทางออก โดยการตั้งสมมติฐานทางด้านการเงินใหม่ รวมถึงอาจจะรวมไปถึงการต่อรองกับทางรัฐบาล เรื่องของความเงื่อนไขของผลตอบแทน ไม่ขอคอมเมนต์ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ทุกอย่างจะต้องจบให้ได้ภายในสิ้นปี 67 และก่อสร้างได้ต้นปี 68
 

   นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า คำถามต่อมาคือระหว่างนี้คนที่ทำสนามบินอู่ตะเภาเขาจะเดินหน้าต่อหรือเปล่า และความเสี่ยงมันก็มีว่าหากจบไม่ได้ หรือหากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหาข้อยุติได้ ตัวบทสัญญามันจะทำอย่างไรต่อไป ขอฝากไว้อย่าให้ปัญหาเกิดขึ้นกับการก่อสร้างสนามบิน หากรถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีปัญหา เชื่อว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์นี้ต้องไปพูดคุยกันให้ดี เพราะสนามบินอู่ตะเภามีความสำคัญอย่างยิ่งกับเมกะโปรเจกต์ของเรา
 

   ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ตนได้ลงพื้นที่ไปดูเรื่องสร้างสนามแข่งขัน F1 หากไม่มีสนามบินก็ลำบากกับเรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยว ฉะนั้นเรื่องของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นเรื่องที่สำคัญ ประมาณสิ้นเดือนก.ค. เราก็น่าจะข้อสรุปและเป็นข่าวดี ในฐานะรัฐบาลอยากให้ไปต่อ เพราะถือเป็นจิ๊กซอว์การลงทุนข้ามชาติ ต่อยอดบริษัทที่จะมาลงทุนในอีอีซี ทำธุรกิจการค้า หรือธุรกรรมการลงทุนต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ถ้าหากขาดไปตัวหนึ่งก็คงลำบาก เราไม่ต้องไปลงรายละเอียดว่าเชื่อม 3 สนามบินต้องไปลิงก์กับสนามบินที่กรุงเทพฯ อย่างไร พร้อมย้ำว่าอย่าให้เกิดปัญหา ไม่เช่นนั้นหากติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่ต้น ก็จะเกิดปัญหาตามมาเป็นมหากาพย์

     นายสุริยะ กล่าวตอบนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในขณะนี้ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแล้ว ซึ่งแนวโน้มตนเชื่อว่าก่อนสิ้นเดือนก.ค.67 น่าจะมีข้อสรุป
 

   ด้าน นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า โครงการ EEC เป็น Megaproject ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ยอมรับว่ามีความล่าช้าบ้าง จะต้องลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยง 3 สนามบิน ซึ่งโครงการนี้ควรเร่งสร้างตั้งแต่ปี 2564 แต่ติดปัญหาโควิด ทำให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ และพฤติกรรมหลังโควิดผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้กระทบ ต่อตัวเลขวงเงินที่มีการทำสัญญาไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองให้เกิดความชอบธรรม
   

 พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ระยะเวลา ของสัญญาที่ต่อรองไว้ดำเนินการพูดคุยให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีได้หรือไม่ และกำชับขออย่าให้ปัญหาลุกลาม เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแล้วรถไฟยังไม่มาก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ ดังนั้น ส่วนตัวเชื่อว่าหลาย ๆ ฝ่ายจะมีการพูดคุยกันได้ดี
   

 โดยนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะงานด้านระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ ๆ เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ก่อสร้างแล้ว 26.42% ระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ก่อสร้างแล้ว 48.41% งานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างแล้ว 98.44% เป็นต้น ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่ร่วมทุนกับภาคเอกชนขณะนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2567 เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญ ๆ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572
 

   คาดว่าประมาณสิ้นเดือนก.ค.จะมีข่าวดีเรื่องของ 3 สนามบิน ขอให้มาพูดคุยและทำให้ทุกๆ โครงการเดินหน้าได้ ยืนยันว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็น Megaproject ที่มีมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเมื่อวานนี้ตนเองได้ลงพื้นที่ไปพัทยาและได้ดูเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเรี่องการจัดมหกรรมคอนเสิร์ตต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของเฟสติวัลต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก Eastern Seaboard ถ้าเกิดไม่มีสนามบินก็จะทำให้ลำบากมากขึ้น ส่วนบ่ายวันนี้ จะลงพื้นที่ติดตามเรื่องของไซต์งานต่าง ๆ ทั้งเรื่อง Formula One ซึ่งถือว่าเป็นเมกกะโปรเจ็ค ระดับโลก เพราะจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 100,000 คน เพราะฉะนั้น หากประเทศไทยมี Infrastructure มารองรับส่วนนี้ได้ จะทำให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยว และจะส่งผลต่อการต่อยอดให้กับเศรษฐกิจที่จะพัฒนา เนื่องจากมีหลายมิติ ไม่ได้มีเพียงมิติขนส่งคน หรือขนสินค้า แต่มีความต่อเนื่องอีกมาก นายกฯ เน้นย้ำ
   

 นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ EEC ขณะนี้มีภาคเอกชนได้เข้ามาหารือกับ EEC และสนใจใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่อยู่กว่า 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม BCG โดย EEC ได้ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนจริง ให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ ปี 25672571