สื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันสารพัดแอปพลิเคชัน

อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม เอ็กซ์ หรือเดิมก็คือ ทวิตเตอร์ เป็นต้น สำหรับใช้เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับผู้คนต่างๆ ผ่านบรรดาแอปฯ ดังกล่าว

แน่นอนว่า ถือเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มีคุณอนันต์ คือ ประโยชน์อย่างมากมาย เช่น การใช้เป็นช่องทางแสวงหาความรู้ต่างๆ ที่ตามโซเชียลมีเดียก็มีอยู่อย่างมากมาย อย่างสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในลักษณะติวเตอร์ เป็นอาทิ แต่ทว่าในขณะเดียวกัน ก็มีโทษอย่างมหันต์ได้ด้วยเหมือนกัน หากสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ ถูกนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้อง เหมาะสม และผู้ใช้เองก็ใช้มันอย่างไม่ถูกต้อง เหมาะสมเช่นกัน

การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อการเรียน ซึ่งถือเป็นการใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ (Photo : AFP)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ผู้ใช้ที่ยังเป็นเด็ก เยาวชนทั้งหลาย ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ ซึ่งอย่าว่าแต่เด็กๆ เยาวชนเหล่านั้นเลย แม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่กล่าวยกย่องให้เป็นกลุ่มช่วงอายุคนที่มีวุฒิภาวะ จำนวนไม่น้อยก็ยังใช้สื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ อย่างไม่ถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยด้วยเหมือนกัน

ว่ากันถึงในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่ยังเป็นเด็ก เยาวชน ปรากฏว่า ได้สร้างความเป็นห่วง เป็นใย ให้แก่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ ตลอดจนบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพทางร่างกายและสุขภาพจิตของเด็กๆ เหล่านั้น

ด้วยประการฉะนี้ จึงต่างมีสารพัด สารพันวิธี ในอันที่จะป้องกันเด็กๆ เยาวชน ที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไม่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นประการต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการ “ติดตั้งค่า” บนอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรือโน้ตบุ๊ค ตลอดจนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี เพื่อไม่ให้เข้าถึงโซเชียลมีเดียในบางสื่อ ที่เห็นว่าไม่สมควรแก่เด็กและเยาวชน เช่น สื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกใช้เป็นช่องทางด้านลามกอนาจาร ตลอดจนการใช้ความรุนแรงต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่ ในบางประเทศ ครอบครัวหลายครอบครัว ก็ใช้วิธีแลกเปลี่ยนระหว่างเงินที่จะได้รับจากพ่อแม่ กับการไม่เข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ในบางประเภทที่ไม่เหมาะสม หรือถึงขั้นแลกกับการไม่ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน สำหรับในบางครอบครัวเลยก็มี ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีครอบครัวในออสเตรเลียหลายครอบครัว ออกมาเปิดเผยว่า ผู้เป็นพ่อแม่ ได้ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนระหว่างการได้รับเงินจากพ่อแม่เพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับการไม่ใช้โทรศัพท์มือสมาร์ทโฟน จนถึงช่วงอายุหนึ่งตามแต่จะตกลงกัน เช่น จนกว่าจะมีอายุครบ 15 ปีบ้าง หรืออายุครบ 18 ปี ก็ยังมี

อย่างไรก็ดี ก็มีเด็กและเยาวชนหลายรายด้วยกัน ที่ไม่ขอรับเงินจากพ่อแม่เพิ่มเติม แต่ขอให้ได้ใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนดีกว่า แทนที่จะรับเงินเพิ่มเติมจากพ่อแม่

ขณะเดียวกัน ทางด้านโรงเรียน หรือสถานการศึกษา บางแห่ง ในหลายเมือง หลายประเทศ ออกกฎระเบียบออกมาถึงการจำกัดการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพื่อให้เด็กนักเรียน เพลาๆ การใช้สื่อสังคมออนไลน์

อาทิเช่น การห้ามนำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโนเข้าไปในห้องเรียน โดยให้นำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่พกมาด้วยนั้น ไปเก็บไว้ในภาชนะที่ทางโรงเรียนจัดไว้ให้ ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ในระหว่างเรียนในห้องเรียนได้ จนกว่าจะพักเที่ยง หรือไม่ก็เลิกเรียนแล้ว นั่นแหละ จึงได้ใช้

ขณะที่ บางโรงเรียนก็ถึงขั้นห้ามนำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เข้ามาใช้ในโรงเรียนเลยก็มีเช่นกัน

ถึงขนาดที่ทางการท้องถิ่น ออกนโยบายมาสนับสนุนต่อกฎระเบียบของทางโรงเรียนข้างต้น

ยกตัวอย่าง ที่นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ปรากฏว่า ได้มีการประกาศว่า ห้ามเด็กนักเรียนนำโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเข้ามาใช้ในโรงเรียนในเขตนครลอสแอนเจลิส

เหตุผลของการประกาศห้ามก็คือ เพื่อป้องกันเด็กนักเรียนใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป อันเป็นผลจากการที่เด็กนักเรียนหลายคนใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป จนถึงขั้นกลายเป็นการ “เสพติดสื่อสังคมออนไลน์” จนแทบจะไม่สนใจการเรียนเลยก็มี เพราะเอาแต่ดูสื่อสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในเวลาเรียน

เช่นเดียวกับ เด็กนักเรียนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วไปจำนวนไม่น้อย ที่ใช้มันจนเพลิน แบบแทบจะไม่มีสมาธิในการเรียนหนังสือ

ภาพจำลองเหตุการณ์เยาวชนรายหนึ่ง ซึ่งติดการใช้โซเชียลมีเดีย แม้ในยามค่ำคืน ที่เป็นเวลานอนหลับพักผ่อน (Photo : AFP)

ใช่แต่เท่านั้น เด็กนักเรียนหลายคนที่ถึงขั้นเสพติดโซเชียลมีเดีย ก็ยังมีปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ตามมาอีกด้วย เริ่มจากการไม่สนใจต่อสังคมรอบข้าง การมีสมาธิสั้น อารมณ์หงุดหงิด ใจร้อน โมโหง่าย เป็นอาทิ และหลายรายกลายเป็นคนที่แสดงออกพฤติกรรมรุนแรง ทั้งๆ ที่แต่ไม่ใช้คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ก็มี

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของทางการท้องถิ่นในนครลอสแอนเจลิส เห็นว่า สถานการณ์ที่เด็กนักเรียนเสพติด หรือหมกมุ่นอยู่กับโซเชียลมีเดียนั้น เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จำต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน และต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด

พร้อมกับยกกรณีปัญหานี้ เทียบเท่ากับเด็กนักเรียนสูบบุหรี่ จนกลายเป็นผู้ติดบุหรี่ แถมมิหนำซ้ำ หลายรายก็กลายเป็นผู้เสพสารเสพติดอื่นๆ ตามมา ซึ่งการจัดการกับปัญหาเด็กนักเรียนสูบบุหรี่ข้างต้นนั้น ทางการนครลอสแอนเจลิส ได้ดำเนินอย่างจริงจัง และเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เช่นเดียวกับ การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนติดโซเชียลมีเดียนั้น ก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยเหมือนกัน จึงจะแก้ไขปัญหาได้

อย่างไรก็ดี ได้มีเสียงสะท้อนจากบรรดาผู้ปกครองของเด็กนักเรียนบางส่วนด้วยเหมือนกันว่า การแก้ไขปัญหาอย่างเฉียบขาด และสุดโต่ง จนเกินไปของทางโรงเรียนข้างต้น ก็อาจจะส่งผลเสียบางอย่างตามมา เช่น การที่ครอบครัวต้องการที่จะติดต่อสื่อสารกับเด็กนักเรียนในระหว่างที่พวกเขาอยู่ในโรงเรียน แต่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นที่บ้าน แล้วครอบครัวจะติดต่อกับเด็กนักเรียนอย่างไร? ซึ่งกรณีนี้ทางโรงเรียนก็จะต้องเตรียมช่องทางติดต่อสื่อสารไว้ระหว่างทางโรงเรียนกับผู้ปกครอง และต้องติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกด้วย หากเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ขึ้นมา