"รัดเกล้า" เผยอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ร่วมผลักดันประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันในด้านต่าง ๆ
วันที่ 23 มิ.ย.67 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ [Greater Mekong Subregion (GMS)] ครั้งที่ 26 ได้ให้การรับรอง (โดยไม่มีการลงนาม) ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 และ (2) ร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 ธันวาคม 2566 เรียบร้อยแล้ว โดยที่ประชุมได้มีการแก้ไขเอกสารจำนวน 1 ฉบับ (ร่างข้อเสนอแนวคิดฯ) ในส่วนของรายละเอียด ซึ่งสาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากฉบับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เสนอผลการประชุมฯ ดังกล่าวให้ที่ประชุม ครม. (18 มิถุนายน 2567) รับทราบ และเห็นชอบมอบหมายภารกิจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมฯ ซึ่งในการประชุมฯ ดังกล่าว รัฐมนตรีหรือผู้แทนของประเทศลุ่มน้ำโขงได้มีข้อเสนอ/ข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ สรุปได้ ดังนี้
1. ประเทศไทย
1) ให้เร่งขยายการลงทุนในนวัตกรรมเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล และเงินทุนสีเขียวในภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การเกษตร การท่องเที่ยว
(2) เร่งจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
(3) สนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาตลาดพลังงานระดับภูมิภาค การใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และโครงข่ายไฟฟ้าแบบสมาร์ทกริด (Smart Grid)
(4) เน้นย้ำความสำคัญของการผลักดันความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ราชอาณาจักรกัมพูชา
(1) ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการศึกษาต่าง ๆ ภายใต้แผนงาน GMS ที่ดำเนินการแล้วเสร็จและกำลังดำเนินการอยู่ เนื่องจากจะนำไปสู่การวางกรอบการดำเนินงานและแผนปฏิบัติการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
(2) เน้นย้ำถึงความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคเพื่อรับมือความท้าทายร่วมกันและใช้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างกัน
(3) ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
3. สาธารณรัฐประชาชนจีน
(1) ควรให้ความสำคัญต่อเวทีหารือระดับผู้ว่าราชการจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจ GMS เนื่องจากเป็นกลไกการมีส่วนร่วมของรัฐบาลระดับท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนในอนุภูมิภาค
(2) เนันย้ำว่าการจัดตั้งเครือข่ายองค์ความรู้ควรส่งเสริมให้สถาบันวิจัยและองค์กรคลังสมองในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
4. สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมการมีส่วนร่วมในระดับรัฐบาลท้องถิ่น และการค้าการลงทุน ที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาคมร่วมกันของแผนงาน GMS
5. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประเทศสมาชิกควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและแบ่งปันข้อมูลผลการดำเนินงานระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
6. เมียนมา เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือภายใต้แผนงาน GMS
โดย สศช. เห็นว่า การขับเคลื่อนการดำเนินการตามผลของการประชุมดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลักดันประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของอนุภูมิภาคในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงควรมอบหมายภารกิจหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนตามผลการประชุมฯ