วันที่ 22 มิ.ย. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คุยกับเศรษฐา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ถึงการเดินทางไปต่างประเทศ ที่มีคนบอกว่าเดินทางไปเยอะมากไปเพื่ออะไรว่า ไม่ได้แก้ตัว แต่เรื่องการไปต่างประเทศ ตนไปมา 15 ครั้ง กว่าครึ่งเป็นไฟต์บังคับ ไปประชุมอาเซียน-เจแปน การไปแนะนำตัว หรือว่าไปจีน กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย เป็นอาเซียน-เจแปนครบ 50 ปี ซึ่งจะไม่ไปไม่ได้ หรือประเทศศรีลังกา ที่เราไปเซ็นสัญญา FTA ซึ่งรัฐบาลเดิมทำไว้แล้ว ก็ไปเป็นเกียรติ ไปงานลงนาม ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
นายกฯ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า รัฐบาลก่อน เรื่องลำดับความสำคัญของเขาอาจจะทำเรื่องอื่นที่เขาเห็นความสำคัญมากกว่า แต่ตอนนี้เรื่องการค้าระหว่างประเทศ เรื่องความอ่อนบางทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การลงทุนข้ามชาติมาลงทุนที่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ไปเชื้อเชิญ และไปบอกเขาว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ ที่เขาจะมาลงทุนที่ประเทศไทย เขาจะทราบไหม ตนว่าต้องไป แล้วการลงทุนกลับมาแต่ละครั้ง เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้านแน่นอนว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะอยู่ขั้นตอนการพิจารณา บางอันก็จะเกิด บางอันเกิดแน่ ๆ บางอันก็ไม่แน่ว่าจะเกิด หรือบางอันก็ไม่เกิดก็มี แต่การทำงาน เราต้องทำทั้งหมดทุกประเทศ เราต้องไปทุกบริษัทที่เขามีศักยภาพที่จะมาลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้น ถือเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่ของตนในฐานะนายกฯ
นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมกับผู้นำและภาคเอกชนเวลาไปต่างประเทศ ต้องใช้เวลาให้คุ้มค่า เข้าใจว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์คือที่ดาวอส มี 19 หรือ 23 วงในวันเดียว ถือว่าเยอะมาก แต่ตนก็ยังบอกกับทีมว่าถ้าไปปีหน้า ถ้ามีห้องประจำของเราเอง 2 ห้อง แล้วก็สลับเข้าสลับออก ตนว่า 30 วงน่าจะทำได้ ทั้งนี้ 12 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้นำของเราไป World Economic Forum เลย พอเราไปคนก็ให้ความสนใจ อย่าง AstraZeneca บริษัททำยา ซึ่งเข้าหุ้นกับปูนซีเมนต์ไทย
นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับผลการไปต่างประเทศ โดยรวมแล้วเป็นบวก เพราะได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ประเทศไทยเหมาะสมสำหรับการลงทุน บางเรื่องได้รับการประสานงานร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าไทย บีโอไอ และหลาย ๆ หน่วยงาน รวมถึงสถานทูตไทยได้เชิญชวน โฆษณาว่าประเทศไทยมีอะไรดี ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด เราพร้อม Incentive จากบีโอไอ เรามีเหนือกว่าประเทศอื่น เรามีรอยยิ้ม เรามีค่าครองชีพที่เหมาะสม เรามีโรงเรียนนานาชาติที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามี Health care system ที่มีมาตรฐานสูงกว่าหลาย ๆ ประเทศ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เขาจะย้ายถิ่นฐานมาเขามีความมั่นใจ เรื่องของการที่เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเยอะ ทำให้เขาเมื่อมาลงทุนแล้วเขามั่นใจว่าที่นี่มั่นคง
นายกฯ กล่าวถึงจุดยืนการทูตของไทยว่า เราไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับประเทศไหน ที่ตนเองเดินทางไปต่างประเทศมาจากการลงทุน จาก EU จากออสเตรเลีย จากจีน จากสหรัฐอเมริกา ทุกประเทศอยากมาลงทุนประเทศไทย ถึงแม้จะมีคู่ขัดแย้งกันเองก็ตามที เพราะเขามั่นใจว่าประเทศไทยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกๆฝ่าย ถ้าเกิดมีปัญหาเกิดขึ้น ฐานผลิตของเขา Supply chain ของเขาไม่ถูกขัด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นทุกคนก็ให้ความมั่นใจกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาที่ไปทำไมเราจึงอยากเป็น Aviation Hub ขยายสนามบินสุวรรณภูมิจาก 60 ล้านคนกลายเป็น 150 ล้านคน ทำไมเราจึงอยากมีแลนด์บริดจ์ในการขนส่ง ไม่ใช่แค่ประหยัดระยะทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย ในอนาคตถ้าเกิดมีคู่ขัดแย้งเยอะ แล้วประเทศที่ควบคุมโลจิสติกส์การเดินทางทั้งหลายไม่เป็นกลาง ใครทะเลาะกับใคร ใครจะเข้าข้างใครก็ทำให้เส้นทางการขนถ่ายสินค้าเขามีปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าเราเป็นประเทศเป็นกลาง อย่างไรเสียเขามั่นใจว่าการดูแลการขนถ่ายสินค้าของทุก ๆ ประเทศจะได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ตนเองเชื่อว่าการตัดสินใจมาลงทุนของเขา ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น
นายกฯ กล่าวด้วยว่า การเดินทางไปต่างประเทศไปเพื่อแนะนำตนเอง และที่สำคัญคือนำมาซึ่งความมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย จากการลงทุนที่ต่างชาติเขาจะมาขยายการลงทุนที่ประเทศไทย แต่ว่าทุก ๆ อย่างใช้เวลา อย่างเช่น เราจะ Move จากอุตสาหกรรมที่มีกำไรน้อยไปสู่อุตสาหกรรมกำไรสูง Low tech เป็น High tech Industry ไม่ได้สร้างได้ภายในวันเดียว ต้องมีวิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น การตัดสินใจในการซื้อ พื้นที่ งบลงทุน อะไรต่าง ๆ นานา ตนเชื่อว่ามีอะไรต้องทำควบคู่กันไป
นายเศรษฐา กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้จะประชุมกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องยกระดับ Skillsets ของ Worker ไทย เรื่องสถาบันอุดมศึกษาของไทยมี Arrangement กับบริษัทยักษ์ใหญ่ มี Training program แทนที่จะเทรนกันแค่ 3 เดือน เขาขอร้องให้ อว. ออกมาเลย เทรนมาเลย 9 เดือน 1 หนึ่ง แล้วก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ Curriculum ด้วย เวลาจบไปก็จะได้ทำงานต่อได้เลย ทีนี้ก็พยายามพูดคุยกันต่อ มีเรื่องของรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราต้องคุยกันเยอะ