เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน  ที่โรงแรมเซ็นทาราโคราช อ.เมือง นครราชสีมา นายพงศกร นาควิเชียร และ นางสาวณิชา นาควิเชียร ผู้บริหารบริษัท Ponix ร่วมกับ บริษัท Huawei และ บริษัท JTN ร่วมจัดกิจกรรม PONIX x JTN ROADSHOW ในหัวข้อ "เจาะลึกนวัตกรรมโซลาร์เซลล์ในยุคปัจจุบัน"  เสริมสร้างองค์ความรู้ และ อัพเดทเทรนด์ต่างๆ ในเรื่องของ เทคโนโลยี พลังงานสะอาด เทคโนโลยี อุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ พลังงานไฮโดรเจน และ แบตเตอรี่ โดยมีนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมบรรยายหัวข้อ เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์กับหน่วยงานราชการ

ภายในงานมีเวทีเสวนาจากตัวแทน สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา และหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้แสดงถึงวิสัยทัศน์และความต้องการของ ภาคส่วนอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย และ ธุรกิจ SME ทั้งนี้ ธนาคาร ICBC ยังได้ให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดพลังงาน ในส่วนของบุคคลทั่วไป และ ธุรกิจต่างๆ โดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นิสิตนักศึกษา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เข้าร่วมกว่า 200 คน

นายวิจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานราชการหลายแห่ง เริ่มปรับเปลี่ยนหันมาใช้ระบบพลังงานทดแทนมากขึ้น ขอยกตัวอย่างค่าไฟฟ้าของศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เดือนละ 2.5 แสนบาท ค่าไฟฟ้าที่ว่าการอำเภอทั้ง 32 อำเภอ เฉลี่ยเดือนละ 5-6 แสนบาท โดยเฉพาะที่ว่าการอำเภอเมือง ค่าไฟฟ้าเดือนละ 3.5 หมื่นบาท ล่าสุดค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เดือนละ 13 ล้านบาท เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ เพราะต้องบริการประชาชนที่เข้ามารับบริการ รวมทั้งการออกแบบอาคารในปัจจุบัน ไม่ได้คำนึงถึงทิศทางลม เพราะข้อกำจัดด้านพื้นที่ ส่งผลให้อาคารต่างๆปลูกสร้างติดต่อกันขวางเส้นทางระบายลม และแสงจนมีความแออัด ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าได้สูญเสียงบประมาณด้านพลังงานไปอย่างมหาศาล

ดังนั้นรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมขับเคลื่อนพลังงานทดแทน ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย ได้เสนองบประมาณให้ทุกอำเภอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นเรื่องที่ดีในการขยายองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน ไปยังหน่วยงานราชการในพื้นที่ กว่า 400 หน่วยงาน หากสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ งบประมาณที่ได้จากการประหยัด สามารถนำไปเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านอื่นได้ รวมทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ต่างๆ สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมพลังงานทดแทน สามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน มีศักยภาพแข่งขันกับตลาดสากลได้