วันที่ 22 มิ.ย. 2567 นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีต สส. กทม. และประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนฯ ระบุว่า จาก การอภิปรายกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำ ปี 68 พรรคประชาธิปัตย์และหลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วงและพูดถึงการกู้เงินจนเกินตัวของรัฐบาลจะก่อให้เกิด ปัญหาฐานะการคลังและจะก่อให้เกิด หายนะของประเทศได้ ความจริงแล้ว ตนอยากเน้น ย้ำขีดเส้นใต้ 10 เส้นว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขการกู้ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่กู้มาแล้วจะใช้อย่างไรและจะมีหนทางหารายได้กลับมาชดเชยเงินกู้ได้อย่างไร ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเศรษฐา ไม่ได้รู้จักคำว่ารดน้ำพรวนดินเศรษฐกิจ แต่เน้นการใช้เงินตอบสนองทางด้านการเมือง เหมือนเทน้ำลงในทรายหายไปไม่ได้คืนมา

เศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้มีปัญหาการเจริญเติบโตชะลอตัว ค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง รายได้ประชาชนลด หนี้ครัวเรือนสูง ที่สำคัญหายนะกำลังเกิดจากหนี้สาธารณะที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้น จากการจัดทำงบประมาณกลางปี 2567 เพิ่มเติม และการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ส่วนของการจัดทำงบกลางปี 2567 นั้น ทำให้การกู้ขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 1.12 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งเป้าจัดเก็บรายได้จากงบประมาณส่วนนี้ไว้เพียง 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม ทำให้การขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 815,056 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้เพราะรัฐบาลจะกู้เงินในรอบนี้ซึ่งจะทำให้ไม่มีที่ว่างทางการคลัง สิ่งที่ต้องเป็นห่วงคือกู้เพิ่มแต่รัฐบาลไม่มีรายได้เพิ่มชัดเจนแน่นอน ซึ่งเกิดจากการกู้มาใช้ในลักษณะเทน้ำลงทราย

นายชนินทร์ กล่าวต่อว่า อยากถามไปถึงรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯเศรษฐาว่า รู้จักไหม การใช้นโยบายเศรษฐกิจแก้ไขแบบรดน้ำพรวนดิน ไม่ใช่เทน้ำลงทรายหายไปไม่เกิดดอกผล อย่างเช่นการกู้มาเพื่อแจก 5 แสนล้าน จริงอยู่ว่าแม้จะเป็นเรื่องดีที่ประชาชนมีเงินเพื่อจับใจใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมในการใช้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของไม่จำเป็นที่มาจากต่างประเทศ การซื้อของกับร้านค้าที่เจ้าของเป็นกลุ่มทุนใหญ่ ก็จะทำให้กลุ่มทุนนั้นได้ประโยชน์เต็มเต็ม  ส่วนร้านข้าวแกง ร้านขายหมูปิ้ง ร้านโชห่วยในชุมชนไม่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้  การใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่จะต้องซื้อใช้อยู่แล้วไม่ได้เป็นการต้องซื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และจะไม่คุ้มค่ากับการกู้มาใช้ ซึ่งนายกเศรษฐาพูดว่าจากการคาดการณ์โครงการดิจิทัล 5 แสนล้านล้านบาท จะทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นซึ่งจากการประมาณการคาดการณ์ของแต่ละฝ่ายก็คือ 2.5% เท่านั้นและที่สำคัญก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเป็นรายได้ให้รัฐบาลสามารถนำกลับมาใช้หนี้ ได้มากน้อยชัดเจนอย่างไร

ตนจึงอยากจะฝากรัฐบาลให้ไปคิดเป็นการบ้านว่า แต่ถ้าหากมาคิดเรื่องแก้เศรษฐกิจโดยการรดน้ำพรวนดินก็ควรจะต้องนึกถึง 3 สิ่งที่คิดจะนำเงินกู้ไปใช้ 1. ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีการเยียวยากลุ่มเปราะบาง 2. การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กโครงการใหญ่ เป็นโครงการเพื่ออนาคต เพิ่อการสร้างงานสร้างอาชีพ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ และ 3 สำคัญที่สุดคือใช้ในการเตรียมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อการทำมาหากินของผู้คนในอนาคตและรายได้ของประเทศที่จะกลับคืนมา
         
นายชนินทร์ ยังกล่าวถึงผลกระทบของการที่ไม่มีพื้นที่การคลังเหลือมากพอ ประเทศก็จะเสี่ยง หากประเทศเกิดวิกฤติขึ้นมาเหมือนช่วงโควิดซึ่งต้องกู้เงินเพิ่มเติมถึง 1.9 ล้านล้านมาแก้ไขเยียวยา และที่สำคัญเมื่อสถานะทางการคลังมีปัญหา ประเทศจะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของประเทศ เมื่อดอกเบี้ยขึ้นก็จะกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย

สุดท้ายอยากแนะนำรัฐบาลให้ฟังความให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านนักวิชาการโดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ฯ หรือแบงค์ชาติซึ่งต้องยอมรับว่าหน่วยงานเหล่านี้มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่สามารถหาเสียงหลอกประชาชนจนมามีอำนาจ บริหารประเทศได้เหมือนกับรัฐบาล