THAI WAH จับมือ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินหน้าประเมินคาร์บอนเครดิตจากไร่มันสำปะหลัง เป็นครั้งแรกในโลก ตอกย้ำความมุ่งมั่นมุ่งสู่เป้าหมาย NET ZERO
รศ. ดร.ตุลวิทย์ สถาปนจารุ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการด้านคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรกรรมจากไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นการริเริ่มดำเนินงานด้านนี้เป็นครั้งแรกในโลกกับ นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI WAH บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ณ โรงแรมบันยันทรี กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อตอกย้ำและแสดงความมุ่งมั่นมุ่งสู่เป้าหมาย NET ZERO ของทั้งสองหน่วยงาน
นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI WAH กล่าวว่า “บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวรายสำคัญของประเทศไทย มายาวนานกว่า 75 ปี มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยการส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสู่ผู้บริโภคทั่วโลก ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีกลยุทธ์หลักในการการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนตั้งแต่กระบวนการปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค อีกทั้งบริษัทยังมีนโยบายชัดเจนด้าน ESG FOR SUSTAINABILITY มาโดยตลอด”
ด้านนางสาวหทัยกานต์ กมลศิริสกุล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายกลยุทธ์ ความยั่งยืน นวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ไทยวาต้องการแสดงให้เห็นว่าการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเกษตรสามารถทำได้จริง”
รศ.ดร.ตุลวิทย์ สถาปนจารุ คณบดี คณะสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเชี่ยวชาญเชิงบูรณาการด้านเกษตรกรรม การแปรรูปอาหาร และสิ่งแวดล้อม และมีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีความร่วมมือกับทางไทยวาในการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติในการเข้าสู่ Carbon Neutrality & Net Zero ซึ่งเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นนโยบายของประเทศ”
นอกจากนี้ รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง (หัวหน้าโครงการฯ) กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของประเทศไทย ได้แก่ รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้ริเริ่มงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของ อบก. รวมทั้ง รศ. ดร.ภัทรา เพ่งธรรมกีรติ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังมี ผศ. ดร.ปิยะ กิตติภาดากุล ผู้เชี่ยวชาญด้านมันสำปะหลังจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีศักยภาพความพร้อมในการดำเนินการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตจาก THAI WAH SUSTAINABLE MODEL”
รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ยังกล่าวย้ำอีกว่า “การดำเนินโครงการนี้ คาดหวังว่าจะทำให้ THAI WAH ขึ้นแท่นเป็น Show Case ด้านคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตรกรรมจากไร่มันสำปะหลัง สนับสนุนการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NET ZERO และเป็นข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยสู่เป้าหมาย SDGs”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คุณสมฤดี ฤทธิ์ไธสง (Somruedee.r@thaiwah.com; 089-949-2066) Director, Project & Farm Development