วันที่ 21 มิ.ย.67 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า รัฐบาลสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางงานแสดงสินค้าและเทศกาลระดับนานาชาติ โดยหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน คือ การร่วมกับทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าและงานเทศกาลระดับโลก เป็นโครงการร่วมกับเจ้าภาพในแต่ละกระทรวงดึงงานร่วมกัน คือ โครงการประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติ One Ministry, One Convention (หนึ่งกระทรวง หนึ่งงานประชุมนานาชาติ) เพื่อยกระดับไทยให้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญของภูมิภาค ผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้จ่ายของนักเดินทางธุรกิจคุณภาพสูงจากทั่วโลก
สำหรับแผนกิจกรรมกระตุ้นตลาดไมซ์ต่างประเทศไตรมาสสุดท้าย ทีเส็บเตรียมแผนจัดโรดโชว์และเข้าร่วมงานเทรดโชว์ต่างประเทศ เจาะกลุ่ม 3 ประเทศเป้าหมายหลัก เริ่มจาก ประเทศอินเดีย ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่เมืองกัลกัตตา และเมืองมุมไบ คาดว่าจะมีงานมาจัดในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์กว่า 8,000 คน สร้างรายได้ราว 528 ล้านบาท ต่อด้วย ประเทศจีน ในเดือนสิงหาคม ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองกวางโจว คาดว่าจะมีงานมาจัดในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 45 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์กว่า 9,000 คน สร้างรายได้ราว 594 ล้านบาท ปิดท้ายด้วย ประเทศอินโดนีเซีย เดือนกันยายน คาดว่าจะมีงานมาจัดในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 25 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์กว่า 5,000 คน สร้างรายได้ราว 300 ล้านบาท รวมถึงเตรียมการนำผู้ประกอบการไมซ์ไทยเข้าร่วมงานเทรดโชว์ IMEX America 2024 เพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อในตลาดอเมริกาช่วงตุลาคมนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีงานไมซ์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงไตรมาสสุดท้าย อาทิ งาน The 27th IUPAC International Conference on Chemistry Education หรืองานประชุมวิชาการนานาชาติด้านงานเคมีศึกษาในระดับสากล จัดขึ้นวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองพัทยา ชลบุรี, งาน Bangkok International Digital Content Festival 2024 หรืองานเทศกาลด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย จัดขึ้นวันที่ 5-8 สิงหาคม 2567 กรุงเทพ และงาน Thailand International LGBTQ + Film & TV Festival 2024 หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลองความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศในสังคม ผ่านผลงานศิลปะในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จัดขึ้นวันที่ 20-24 กันยายน 2567 กรุงเทพ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทยได้รับการพัฒนาจนได้รับความไว้วางใจจากนานาชาติว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการจัดงานเชิงธุรกิจ และบทพิสูจน์มาจากการที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติมากมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในช่วงปี 2558 - 2566 พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมไมซ์คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.24 ล้านล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของไทยคิดเป็น 963,502 ล้านบาท สร้างรายได้ในรูปแบบภาษี 118,421 ล้านบาท และสร้างงาน 844,750 ตำแหน่ง
อีกทั้ง ประเทศไทยยังติดหนึ่งในสิบของจุดหมายปลายทางชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการจัดอันดับขององค์กรด้านไมซ์สากล ดังเช่น รายงานการจัดอันดับประเทศและเมืองเจ้าภาพด้านการจัดประชุมนานาชาติประจำปี 2566 ของสมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 จากเดิมอันดับ 7 ของเอเชียแปซิฟิก เมื่อเทียบกับปี 2565 และปัจจุบันเป็นอันดับที่ 26 ของโลก จากเดิมอันดับที่ 32 ก้าวกระโดดถึง 6 อันดับโลกภายในหนึ่งปี
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการโหวตให้เป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางของเอเชียในด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล โดยได้รับรางวัล Stella Awards ในสาขา Best MI destination of Asia 2023 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันในช่วงปี 2564 – 2566 ดำเนินการโดย M&C Asia สื่อด้านธุรกิจไมซ์ในสิงคโปร์
อีกทั้งล่าสุด ด้านการจัดอันดับ CVENT Top Lists 2024 ซึ่งรวบรวมโดยอ้างอิงจากกิจกรรมการจัดหาผ่าน Cvent Supplier Network หนึ่งในแพลตฟอร์มการจัดหาสถานที่จัดงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ และภูเก็ต ติดหนึ่งในสิบจุดหมายปลายทางชั้นนำของเอเชียแปซิฟิกในปี 2567 โดยกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 2 และภูเก็ตติดอันดับที่ 9
ในส่วนอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติ จากรายงานของสมาคมการแสดงสินค้าโลก (UFI) ล่าสุดในปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้าเป็นอันดับที่ 1 ขยับขึ้นจากอันดับ 2 ของอาเซียน เมื่อเทียบกับปี 2564 และขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย จากเดิมอันดับที่ 8 ภายในหนึ่งปีเช่นกัน
ขณะที่ ผลการดำเนินงานอุตสาหกรรมไมซ์ใน 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – มิถุนายน 2567) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์กว่า 18 ล้านคน สร้างรายได้ 109,669 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศกว่า 894,000 คน สร้างรายได้ 52,980 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศกว่า 17 ล้านคน สร้างรายได้ 56,689 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าสิ้นปีงบประมาณนี้ผลการดำเนินงานไมซ์จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้โดยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมกว่า 23 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 136,000 ล้านบาท