“นภินทร” แนะ SME ปรับตัวรับการตลาดยุคใหม่ ชี้ผู้บริโภคใส่ใจคุณภาพอาหาร เพิ่มมูลค่าด้วยแหล่งที่มา บัญชีคือส่วนหนึ่งความสำเร็จของ SME

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการให้แก่วิสาหกิจชุมชน ระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงาน ‘มหกรรมรวมพลัง SME ไทย’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า “ในวันนี้ (วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567) เป็นโอกาสดีที่ 3 หน่วยงานพันธมิตรได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการหรือการทำธุรกิจให้แก่วิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย ที่จะเป็นการต่อยอดให้กับวิสาหกิจชุมชนที่เคยได้รับการส่งเสริมด้านการวางระบบบัญชีจาก 3 หน่วยงานมาแล้ว ในปี 2566 ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของการนำระบบบัญชีไปประยุกต์ใช้จริง การวางแผนด้านการตลาด และการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น 

โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเป้าหมายใน MOU ครั้งนี้ มี 6 ราย ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ จ.สระบุรี ผลิตภัณฑ์จากรังไหม เช่น กระเป๋ารังไหม โคมไฟรังไหม สบู่รังไหมขัดหน้า 2) วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน จ.เพชรบุรี ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวขัดขาว โจ๊ก สบู่ข้าว ขนมข้าวพองผสมธัญพืช 3) วิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ผลิตภัณฑ์มังคุดคุณภาพ และสินค้าแปรรูปจากมังคุด 4) วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ 5) วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จ.พัทลุง ผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดและผ้าส่งจำหน่ายให้กับสตาร์บัคส์ TOP Supermarket Central และ 6) วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน ผลิตภัณฑ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ เช่น ลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง มะม่วง Freeze Drying

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน จึงได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในหลากหลายมิติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุน พัฒนา และเชื่อมโยงด้านการตลาด เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับสินค้าท้องถิ่นในชุมชน การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้แก่วิสาหกิจชุมชน ซึ่งจากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องพบว่าความท้าทายหลักของวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ การจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง การบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางบัญชีในการตัดสินใจเพื่อบริหารทรัพยากรภายในวิสาหกิจชุมชน การจัดทำบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีความพร้อมทางทรัพยากรทั้ง 6 ราย ได้รับการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนในมิติต่างๆ ได้แก่ การนำระบบบัญชีไปประยุกต์ใช้จริง รวมถึงด้านการตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้นำระบบบัญชีต้นแบบ หรือ Blueprint ของวิสาหกิจชุมชนเป้าหมายทั้ง 6 ราย ไปขยายผลให้แก่วิสาหกิจชุมชนรายอื่นในอนาคต”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่วิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การจัดทำบัญชีและภาษี และยังได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสและเชื่อมโยงด้านการตลาดให้แก่วิสาหกิจชุมชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย อีกหลายโครงการ ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้ง 3 หน่วยงาน จะพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการให้แก่วิสาหกิจชุมชนเป้าหมาย 6 ราย ให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชี การบริหารจัดการธุรกิจ และทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี และสนับสนุนการให้คำปรึกษา แนะนำ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางการตลาด และส่งเสริมศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเป้าหมาย”

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน มีหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นกิจการภาคการเกษตร ดำเนินการโดยเกษตรกรหรือคนในชุมชน ให้พัฒนาเป็นกิจการที่มีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันในตลาดได้ การส่งเสริมจำเป็นต้องให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชนแต่ละกิจการ การดำเนินการตามความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงานในครั้งนี้ จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนประกอบกิจการได้ถูกต้องตามกฎหมาย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งการบริหารจัดการ การจัดทำบัญชี การพัฒนาสินค้าและการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนสามารถปรับตัวให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในที่สุด การดำเนินการในครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นที่ปรึกษาให้กับวิสาหกิจชุมชนในการรับการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ หวังว่าจะมีการขยายการดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไป เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนเป็นแรงผลักดันในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐาน”

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา มีบทบาทหน้าที่สำคัญคือ การพัฒนา “นิสิต” ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) ของประเทศ ให้มีศักยภาพที่ช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวล้ำการเปลี่ยนแปลงและก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้น โครงการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการให้แก่วิสาหกิจชุมชน ตาม MOU ฉบับนี้ ที่ทำร่วมกัน 3 หน่วยงาน จึงเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการเข้าไปช่วยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจระดับชุมชนของประเทศ ด้วยการนำความรู้ทั้งการบัญชี การตลาด และการสร้างแบรนด์ การจัดการดำเนินงานผสานเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้กับ 6 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบใน 6 เขต อันจะทำให้เกิดทั้งความฉลาดทางนวัตกรรม พร้อมๆ กับการปลูกฝังจิตวิญญาณของการให้ ตามวิสัยทัศน์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่ต้องการเป็น Real Business in the School” 

“กระทรวงพาณิชย์ ขอขอบคุณหน่วยงานพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนการวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน รวมถึง นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการวางระบบบัญชีที่ถูกต้องให้แก่วิสาหกิจชุมชนในปี 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ” รมช.พณ.นภินทร กล่าวทิ้งท้าย

โดยปัจจุบัน มีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจากกรมส่งเสริมการเกษตรแล้วกว่า 84,000 รายทั่วประเทศไทย ครอบคลุมทั้งการผลิตสินค้า ในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ของใช้ และสมุนไพร และยังครอบคลุมถึงการให้บริการ เช่น การท่องเที่ยว และสุขภาพ เป็นต้น

#มหกรรมรวมพลังSMEไทย #ThailandSMESynergyExpo2024 #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์ #SuperDBD