"นักวิชาการมธ." ชี้ "สว. ชุดใหม่"  ยังมีอำนาจมากเกินไป  เป็นผู้กำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า  เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ – แก้ รธน. หวัง สว. มีอิสระ ไม่ถูกครอบงำ ช่วยยกระดับประชาธิปไตยให้ดีกว่าเดิม

วันที่ 21 มิ.ย.2567  ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยการให้เลือกกันเองจำนวน 200 คน ในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ จะชี้วัดหรือเป็นการกำหนดทิศทางภูมิทัศน์การเมืองไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า เพราะ สว. ชุดใหม่ที่แม้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีอำนาจสำคัญต่อการเมือง โดยเฉพาะอำนาจการให้ความเห็นชอบผู้เข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมไปถึงยังมีอำนาจในการเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่หากเกิดขึ้นก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว. ที่ต้องมีเสียง 1 ใน 3 ฉะนั้น สว. สำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทย

อาจารย์ ดร.ปุรวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า หลายองค์กรอิสระที่ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งมาจาก สว.ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะหมดวาระในอีก 2-3 ปีนี้ ซึ่ง สว.ชุดใหม่ จะมีบทบาทในการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะไปดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระกลุ่มใหม่ โดย สว.ชุดใหม่นี้ อาจมีอิสระในการให้ความเห็นชอบ ไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มอำนาจเดิม รวมไปถึงที่ผ่านมา เมื่อมีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องอาศัยเสียง สว. 1 ใน 3 หรืออย่างน้อยต้องมี 67 เสียง จากทั้งหมด 200 เสียงของ สว. เห็นชอบด้วย ทำให้ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา มีความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ครั้งเดียวที่ สว.เห็นชอบด้วย คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต่อมาใช้ในการเลือกตั้งปี 2566

ดังนั้น การเลือก สว.ครั้งนี้ จึงสำคัญอย่างมากที่จะทำอย่างไรให้ได้มี สว.อย่างน้อย 67 คน ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนวาระที่จะทำให้ประชาธิปไตยไทยก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ได้ เพราะเพื่ออย่างน้อย 67 คนนี้จะเป็นอีก 1 ใน 3 เสียงของสว. ที่มีความอิสระพอในการเห็นชอบญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ผ่านเสียงกึ่งหนึ่งจากสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

"ที่ผ่านมา สว.ชุดเดิมแต่งตั้งในยุค คสช. ก็ส่งผลให้เกือบทั้งหมดที่เคยมีการขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจากสภาล่าง ก็จะไม่ผ่านการเห็นชอบจาก สว. ชุดก่อน ทำให้การผลักดันแก้ไขกฎหมายต่างๆ เกิดขึ้นไม่ได้ และยังเป็นการเพิ่มล็อกอย่างชัดเจน จากคนที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าไม่ต้องการให้มรดกรัฐประหารของ คสช. จากปี 2557 ถูกแตะต้องหรือถูกแก้ไข การเลือก สว. ในครั้งนี้ จึงสำคัญอย่างมากต่อการเมืองในประเทศไทย   ที่จะเป็นการกำหนดภูมิทัศน์การเมืองของชาติไปถึงปี 2572 ว่า สว. ที่ได้มา จะทำงานกันแบบเดิม หรือนำไปสู่ทิศทางใหม่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง" ดร.ปุรวิชญ์ กล่าว

อาจารย์ ดร.ปุรวิชญ์ กล่าวด้วยว่า บทบาทและอำนาจของ สว. ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เมื่อพิจารณาแล้วก็ยังเห็นว่ามีอำนาจมากเกินไป แม้ว่า สว.ชุดใหม่ที่จะเลือกกันเอง จะไม่มีอำนาจในบทเฉพาะกาลในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะอำนาจในการเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3 รวมไปถึงอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่แม้จะไม่ได้คัดเลือก แต่เมื่อมีการคัดหารายชื่อจากคณะกรรมการมาแล้ว สว. ก็มีสิทธิไม่เห็นชอบได้ อำนาจส่วนนี้ของ สว. จึงดูเหมือนเป็นบทบาทที่ไม่ได้ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากนัก

"การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมา แม้จะเป็นไปในลักษณะที่ต้องการทำให้ประชาธิปไตยในประเทศดีมากขึ้น เช่น ล้างระบบรัฐประหาร หรือการแก้ไขที่มาของสว. การแก้ไขอำนาจหน้าที่สว. ไม่ให้ร่วมเลือกนายกฯ หรือแม้กระทั่งร่วมเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม วาระการผลักดันญัตติเหล่านี้ในหลายครั้งจะถูกสกัดในชั้น สว. จะด้วยจุดยืนของ สว. หรือเหตุผลใดก็ตาม แต่การให้อำนาจ สว. เช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ดีขึ้น" อาจารย์ประจำสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว

อาจารย์ ดร.ปุรวิชญ์ ยังกล่าวถึงประเด็นการเลือก สว. ระดับประเทศที่จะถึงในวันที่ 26 มิ.ย. นี้ อีกด้วยว่า การเลือกรอบสุดท้ายที่เป็นรอบระดับประเทศ จะเป็นการเลือกกันเองของผู้สมัครที่เข้ารอบสุดท้าย ซึ่งมีจำนวนรวม 3,000 คน ให้เหลือ 200 คนเพื่อเข้ามาทำหน้าที่สว.ชุดใหม่ และจะเป็นการเลือกที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม  เพราะที่ผ่านมาเคยมีการเลือกตั้ง สว. มาแล้ว แต่ก็มีปรากฏการณ์และวาทกรรมสภาผัว-เมีย เพราะ สส. และ สว. ในครั้งนั้นส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกัน และมีความใกล้ชิดกับการเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ โจทย์การเขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 จึงปฏิเสธการให้เลือก สว.ทางตรงอย่างเด็ดขาด แต่ทว่าก็เป็นปัญหาใหม่ ที่เป็นการเลือก สว.โดยไม่มีประชาชน แต่เป็นการเลือกกันเอง จึงมีคำถามตามมาว่า แล้ว สว.เหล่านี้เป็นคนของใคร และจะรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไร

อาจารย์ ดร.ปุรวิชญ์ กล่าวเสริมอีกว่า การเลือกสว.ครั้งนี้ จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น เพราะตำแหน่ง สว. เป็นตำแหน่งที่ต้องเดิมพันกันสูง และเมื่อเข้ามาแล้วจะมีอำนาจหน้าที่มากมาย เพราะ สว. จะสามารถควบคุมและกำหนดภูมิทัศน์การเมืองประเทศ โดยเฉพาะในส่วนองค์กรอิสระ ที่ สว.จะเป็นเหมือนต้นทางขององค์กรอิสระต่างๆ แต่กระนั้น จากที่ดูรายชื่อผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายมา ก็มีหลายหลาย และหลายกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มการเมืองจัดตั้ง และมีประชาชนคนธรรมดาเข้าไปด้วย จึงเชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีความอิสระจริง และหากได้เข้ามาก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้

"ก็ต้องฝากถึงกลุ่มที่จะเลือก สว.รอบสุดท้ายนี้ ไม่ว่าท่านใดได้รับเลือก อยากให้ตระหนักถึงประโยชน์โดยรวม และตระหนักถึงการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพราะ สว.มีหน้าที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย แม้ว่าจะเลือกกันเอง แต่ก็รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ก็ต้องทำงานตอบสนองให้กับประชาชน อีกทั้ง ที่ผานมาการเมืองไทยติดหล่มวังวนเดิม สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามา ก็อาจอยู่ในฐานะที่กำหนดประเทศไทยได้ว่า จะให้เดินหน้าไปทางไหน จะให้เหมือนเดิมเหมือนที่ผ่านมา หรือจะให้เปลี่ยนไปอีกวิถีทางหนึ่ง ประวัติศาสตร์ก็จะจารึกสิ่งที่ สว.ชุดนี้จะทำในอีก 5 ปีข้างหน้า"