คอลัมน์ ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คุกสำหรับคนส่วนใหญ่มองว่าคือนรกที่มีแต่ทุกข์ทรมาน ทว่าอาจจะเป็นสวรรค์สำหรับหลาย ๆ คนที่หนีเข้ามาจากโลกภายนอก

ชื่อเดิมของเขาค่อนข้างจำยากเพราะเป็นชื่อที่ออกสำเนียงฝรั่งบนภาษาพื้นเมือง บ้านเกิดเมืองนอนของเขาในแอฟริกาถูกมหาอำนาจเข้ายึดครองมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วฝรั่งชาตินั้นก็ใช้วิธีการปกครองแบบที่ถนัด คือ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” โดยปล่อยให้ชนเผ่าต่าง ๆ ฆ่าฟันกันขึ้นมามีอำนาจ ทำให้บ้านเมืองเละเทะอยู่นับสิบ ๆ ปี กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชนเผ่าต่าง ๆ เหล่านั้นจึงได้รู้สำนึก หันมาร่วมมือกันเรียกร้องเอกราช แต่กว่าจะได้รับเอกราชก็ใช้เวลาหลายปี ซึ่งไทสันจำได้แม่น เพราะปีนั้นเป็นปีที่ประเทศฝรั่งเศสประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ค.ศ. 1958 พร้อมกับให้เอกราชแก่ประเทศในการยึดครองหลาย ๆ ประเทศในปีนั้น อันเป็นปีที่ไทสันก็ได้ลืมตาขึ้นมาดูโลก

ไทสันเป็นชื่อที่ผู้คุมคนหนึ่งในเรือนจำบางขวางเป็นคนตั้งให้ ที่อาจจะเป็นเพราะเขามีรูปร่างหน้าตาเหมือนนักมวยอเมริกันร่างยักษ์ แชมเปียนโลกมวยสากลรุ่นเฮฟวีเวตชื่อดัง หรืออาจจะเป็นด้วยใบหูข้างขวาของเขามีรอยแหว่งเพราะไปชกกับเพื่อน ๆ นักโทษในครั้งหนึ่งและถูกกัดจนติ่งหูขาด ซึ่งไมค์ ไทสัน ก็เคยทำแบบนั้นกับคู่ต่อสู้มาครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามก็ดีกว่าชื่อฝรั่งเศสของเขา ที่นอกจากจะออกเสียงยากและจำยากแล้ว มันยังให้ความรู้สึกที่ไม่ดี เหมือนเป็นขี้ข้าของใครติดตัวจนตลอดชีวิตนั้น

ประเทศของไทสันแม้จะได้รับเอกราชแล้วก็ยังมีความวุ่นวายไม่รู้จบ เพราะผู้นำชนเผ่าต่าง ๆ ที่เพิ่งจะหันมาจับมือกันจนได้รับเอกราช ก็กลายมาเป็นศัตรูกันและพาผู้คนมารบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันอีก เกิดสงครามที่เรียกว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดของชาติอดีตเมืองแม่ ที่กล่อมชนเผ่าต่าง ๆ ว่า “เชื้อชาติที่แข็งแรงและฉลาดที่สุดคือผู้ชนะ” ผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก แม้แต่เด็ก ๆ พอวิ่งและฟังคำสั่งต่าง ๆ ได้ ก็จะถูกบังคับให้ไปช่วยขนเสบียงและอาวุธ จนกระทั่งแบกปืนเข้าร่วมรบ พ่อแม่ของไทสันเป็นห่วงไทสันมาก ตอนนั้นไทสันอายุราว ๆ 10 ขวบก็ถูกพ่อแม่ให้ออกเดินทางไปกับพวกพ่อค้าที่มาส่งของให้ทหารที่ท่าเรือ ซึ่งก็มีพ่อแม่ของเด็กคนอื่น ๆ ส่งลูกของตนมาลงเรือเพื่อหลบหนีภัยสงคราม ซึ่งก็ต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่ที่ท่าเรือ รวมถึงค่าใช่จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับพ่อค้าเจ้าของเรือนั้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จ่ายเป็นสิ่งของมีค่าต่าง ๆ เพราะเงินถ้าไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐแล้วก็ไม่มีค่าอะไร ค่าจ้างให้ได้ลงเรือทั้งหมดจึงเป็นสิ่งของจำพวกทองคำและของมีค่าต่าง ๆ ที่ได้มาจากการจี้ปล้นหรือขโมยเอามาจากศัตรูในสงครามนั่นเอง แต่สำหรับไทสันของมีค่าที่ได้มาเหล่านั้นก็คือสิ่งของที่เข้าไป “เก็บกวาด” เอามาจากบ้านเรือนที่ถูกเผา หรือหยิบถอดเอามาจากศพของผู้คนที่นอนตายกันก่ายกองจากภัยสงครามนั่นเอง (ข้อมูลเรื่องราวตรงนี้ฟังดูทารุณสยดสยองเหลือเชื่อ ถ้าไทสันไม่โกหก เขาก็จะต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่มีวาทศิลป์เก่งกล้าเป็นอย่างมาก)

เมืองแรกนอกประเทศที่ไทสันรู้จักคือเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของประเทศอินเดีย โดยเรือที่บรรทุกเด็ก ๆ มายี่สิบกว่าคนนั้นได้แอบเข้ามาจอดเทียบท่าในตอนดึกของคืนวันหนึ่ง ครั้นพอสว่างก็มีรถบรรทุกมารับไปยังอีกเมืองหนึ่งที่อยู่ห่างกันไม่ไกลนัก เพราะเพียงพระอาทิตย์ขึ้นเหนือหัวไปสัก 45 องศา ซึ่งก็คงเป็นเวลาสัก 9 โมงเช้า ตรงที่เด็ก ๆ ถูกต้อนลงจากรถเป็นป่าโปร่ง ๆ ไม่มีบ้านเรือนผู้คน ด้านหน้าเป็นลานกว้างสำหรับรถบรรทุกมาลง “ก้อนดิน” และ “ผงหิน”  ถัดเข้าไปเป็นโรงเรือนโล่ง ๆ ขนาด 6 คูณ 12 เมตร หลังคามุงสังกะสีเก่า ๆ สูงสัก 5 เมตร มีอยู่ 2 โรง ด้านหลังเข้าไปเป็นเรือนแถวฝาไม้อัดกับหลังคาสังกะสีเก่า ๆ เช่นกัน ขนาด 4 คูณ 6 เมตร มีแต่ประตูเข้า ไม่มีหน้าต่าง พื้นเป็นไม้อัดวางบนดิน เวลาจะนอนก็ใช้เสื่อปอวางปูทับ นอนได้ประมาณ 20 คน มีอยู่ 2 หลัง ส่วนห้องน้ำอยู่ห่างออกไปอีกหน่อย ขุดเป็นหลุมยาวนั่งได้ทีละ 7 - 8 คนเรียงกันไป ใกล้กันมีบ่อซีเมนต์ขนาด 2 คูณ 3 เมตร ไว้อาบน้ำได้วันละครั้งตอนเย็น ห่างออกไปอีกหน่อยเป็นโรงครัว ขนาด 5 คูณ 10 เมตร ปลูกขึ้นโล่ง ๆ เช่นกัน ด้านหนึ่งมีเตาก่อหยาบ ๆ 3 เตา ไว้หุงข้าวและทำอาหาร ตรงกลางมีราวนั่งยาวขนานไป 4 แถว ไว้นั่งกินข้าวที่มีให้วันละ 2 มื้อ เช้า – บ่าย ที่แห่งนี้เป็นโรงงาน “ทำปุ๋ย” แต่เท่าที่ไทสันจำได้ ไม่น่าจะใช่ปุ๋ยจริง ๆ เพราะมันคือก้อนดินที่ทุบละเอียดด้วยแรงงานเด็ก ๆ ผสมคลุกเข้ากับผงหินแบบหยาบ ๆ แล้วใส่กระสอบปอ รอให้รถบรรทุกมาขนเข้าไปที่ร้านค้าหรือส่งไปตามเมืองอื่น ๆ ต่อไป

เกือบ 5 ปีที่อยู่ในโรงงาน “ฝุ่นนรก” แห่งนั้น มีเด็กหลายคนผลัดเปลี่ยนกันเข้าออกเดือนละเป็นสิบ ๆ คน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่หนีออกไปเอง แล้วก็จะมีการขนเด็กอื่น ๆ เข้ามาแทนเป็นระยะ สำหรับไทสันแม้จะเหนื่อยยากลำบากมาก เงินค่าจ้างก็ไม่เคยได้รับ เพราะนายจ้างอ้างว่าไทสันกับเด็กทุกคนมาทำงานใช้หนี้ เคยคิดจะหนีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหนีไปไหน เพราะไม่มีคนรู้จักและสื่อสารพูดภาษาท้องถิ่นก็ไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนมาบอกว่าโรงงานถูกปิด บ้างก็ว่าเป็นเจ้าของปิดเองเพราะทำปุ๋ยเถื่อนกลัวถูกจับ บ้างก็ว่าเจ้าหน้าที่มารีดไถเอาค่าคุ้มครอง พอเจ้าของโรงงานไม่ให้ก็หาเรื่องปิดโรงงาน แต่สำหรับไทสันมันเหมือนเป็น “ทางรอด” ที่เขาจะได้ออกจากนรกแห่งนั้น และบางทีอาจจะได้ไปถึง ”สวรรค์” ที่ไหนสักแห่ง ที่เขาคิดว่าน่าจะดีกว่า “โรงงานนรก” ที่เขาอยู่มา หรือแม้กระทั่งดีกว่าบ้านเกิดของเขาที่ยังมีสงครามไม่สิ้นสุด

เขามารู้ภายหลังว่าเมืองที่เขามาอยู่นั้นไม่ใช่เมืองในประเทศอินเดีย แต่เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งของบังกลาเทศ ตอนที่เขาถูกกวาดต้อนออกมาจากโรงงาน เขาก็ถูกมา “กักกัน” รวมกันไว้ที่ค่ายผู้อพยพแห่งหนึ่ง ซึ่งความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นบ้าง อย่างน้อยก็ได้กินข้าววันละ 3 มื้อ และอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง รวมถึงที่ได้ออกเดินไปมาในบริเวณค่าย กระทั่งได้รู้ช่องทางว่ามีเจ้าหน้าที่บางคน “ให้บริการส่งออก” ผู้อพยพไปยังบางประเทศที่มีความต้องการแรงงาน โดยผู้ว่าจ้างในประเทศนั้นจะเป็นคนจ่ายเงินให้กับคนท้องถิ่น แล้วคนในท้องถิ่นก็นำเงินมาจ่ายให้เจ้าหน้าที่ตามจำนวน “ปลาดำ” ที่จะถูกจัดส่งออกจากค่ายในแต่ละครั้งนั้น ซึ่งไทสันก็ถูกจัดเป็นปลาดำอีกตัวหนึ่งที่ได้ถูกจัดส่งออกไปนอกประเทศ โดยที่ไม่รู้ล่วงหน้าว่าประเทศที่มานั้นคือ “ประเทศไทย”

ไทสันมาประเทศไทยใน พ.ศ. 2516 เขาจำได้แม่นเพราะปีนั้นมีการจลาจลในประเทศไทย (วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516) เขาถูกต้อนลงเรือที่จังหวัดระนอง แต่ได้ถูกส่งไปทำงานที่จังหวัดสุราษฎรธานี ในโรงงานทำปลากระป๋องแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับค่าจ้างอีกเช่นกัน แต่กระนั้นก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก ทั้งห้องพักที่สะอาดและเป็นสัดส่วนแม้จะคับแคบ รวมถึงอาหารที่อร่อยมาก ๆ แบบที่เขาบอกว่า “ไม่เคยกินอะไรอร่อยขนาดนั้นมาเลยในชีวิต” แต่ที่มีความสุขที่สุดก็คือ “ได้คุยกับสาว ๆ” ที่อาจจะเป็นด้วยเขาอยู่ในวัย “ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน” หรือเป็นเพราะวัฒนธรรมความเป็นมิตรของคนไทย ทำให้ได้พูดคุยกับผู้คนมากขึ้น และสามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้พอสมควร แต่ว่าด้วยสติปัญญาและความสามารถที่มีอยู่เพียงแค่นั้น ทำให้เขาก้าวเข้าสู่ “นรก” บางอย่างโดยไม่ได้ตั้งใจ

คนอื่นมองว่าเขาโง่เองที่เอาชีวิตเข้าเสี่ยงแบบนั้น แต่สำหรับเขากลับมองว่านี่แหละ “จุดมุ่งหมายในชีวิต”