วิษณุ แถลงผลสอบ ก่อนส่งตัว บิ๊กต่อกลับสตช. ระบุคดีความมีหน่วยงานตรวจสอบแล้ว ส่วน บิ๊กโจ๊กหากผลสอบเป็นผู้บริสุทธิ์ยังมีสิทธิ์นั่งเก้าอี้ผบ.ตร. เชื่อศึกสีกากีสงบลง นายกฯรับไม่แน่ใจปัญหาศึกสีกากีจบหรือไม่ หลังแถลงผลสอบ 2 บิ๊กตำรวจ เมินคอมเมนต์หลังเอกสารผลสอบหลุด
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จะแถลงผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในวันเดียวกันนี้ คิดว่าหลังจากนี้ศึกสีกากีและข้อกังวลต่างๆจะจบหรือไม่ ว่า คิดว่าขอให้เราคอยฟังการแถลงเวลา 11.00 น. วันนี้ก่อนแล้วกัน ก็หวังเป็นขั้นตอน ก็เป็นความก้าวหน้าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมา แต่ถามว่าจะจบเลยหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ
ผู้สื่อข่าวถามถึงเอกสารที่มีหลุดออกมาก่อนที่จะมีการแถลงความชัดเจนนั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายเศรษฐา ย้อนถาม มีลายเซ็นผมหรือเปล่า เมื่อผู้ข่าวตอบว่า ยังไม่มี นายเศรษฐา ยิ้มพร้อมกล่าวว่า โอเคครับ เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่ารอลายเซ็นจากนายกฯ ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา หัวเราะพร้อมกล่าวว่า 11 โมงครับ 11 โมง เมื่อถามย้ำอีกว่า ใช่เอกสารตัวจริงหรือไม่ นายเศรษฐา ตอบว่า ผมไม่คอมเมนต์ครับ ผมไม่ทราบ ผมไม่ได้ดูด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามขั้นตอนแล้วหลังการแถลงเสร็จทางตำรวจจะเสนอเอกสารมาให้นายกฯ ลงนามใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ใช่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เป็นองค์กรอิสระ โดย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ส่วนเอกสารที่หลุดออกมานั้นไม่ทราบและไม่คอมเมนต์ในเรื่องของเอกสารที่หลุดออกมาหรือไม่หลุดออกมาได้ยินข่าวเหมือนกัน แต่ไม่ได้อ่าน และไม่ได้ดูด้วย เพราะตนทราบอยู่ว่าตนยังไม่ได้เซ็น เพราะฉะนั้นจึงไม่อยากที่จะต้องมาดูว่าเป็นของจริงหรือของปลอมอะไร เมื่อถามย้ำว่า เมื่อมีการแถลงเสร็จสิ้นก็จะมีการเซ็นลงนามทันทีเลยใช่หรือไม่ นายเศรษฐา ยิ้มพร้อมกล่าวว่า รอแถลงก่อนแล้วกัน เป็นทีละขั้นทีละตอนก่อนแล้วกัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า คณะกรรมการชุดนี้ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาหลายชุดขึ้นมาช่วย ช่วง 4 เดือน ได้มีการสอบพยานไป 50 กว่าคน ในจำนวนนี้ได้สอบสวนคู่กรณีคือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ผลสอบสรุปว่า 1.มีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จริง มีความขัดแย้งทั้งในระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น จนกระทั่งเกิดเป็นคดีความร้องเรียนกันทั้งภายในและภายนอก สตช.
2.เรื่องที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และแต่ละคนจะมีทีมงานของตัวเอง ทีมงานก็เกิดความขัดแย้งกันด้วย โดยมีคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับคนเหล่านี้ เช่น คดีเป้รักผู้การ 140 ล้านบาท คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีพนันออนไลน์บีเอ็นเค และคดีย่อยๆ อีกสิบคดี กระจายกันตามสถานีตำรวจต่างๆ และศาล โดยเฉพาะศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิด และบางเรื่องเกิดขึ้นเป็นสิบปีแล้ว 3.เมื่อเป็นเช่นนี้ ต้องดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบไป บางเรื่องส่งให้หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ว่ากันตามปกติ 4.บางเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานนอกกระบวนการยุติธรรม คือ องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ปปง. ดีเอสไอ ซึ่งคดีต่างๆ มีเจ้าภาพรับผิดชอบแล้วทั้งสิ้น
5.กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 แต่เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่ สตช.ตั้งแต่ 18 เม.ย.67 และวันเดียวมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อสอบสวนทางวินัยและตามมาด้วยคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ส่วนกรณีพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ที่ยังไม่ได้กลับไป เมื่อแต่ละเรื่องมีเจ้าภาพรับผิดชอบแล้ว จึงสมควรที่จะส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่เดิม เพราะวันนี้ไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว สอบสวนเสร็จแล้ว หรืออะไรที่ยังไม่เสร็จก็อยู่ในมือ ป.ป.ช. จึงให้กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ส่วนคดีจะเป็นอย่างไรให้ดำเนินการตามสายงาน หรือจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเพิ่มเติมหรือไม่ ให้เป็นเรื่อง สตช.
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดนี้ที่มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ไม่ได้ชี้มูลว่าใครถูกใครผิด แต่ได้รายงานผลการสอบสวนให้นายกฯว่า พบเห็นความยุ่งยาก สับสน ระหว่างอำนาจสอบสวนของหลายหน่วยงาน ที่ไม่รู้ว่าอยู่ในอำนาจของใครเช่น เรื่องไหนอยู่ในตำรวจ หรือป.ป.ช. เพราะคดีทุจริตมีเจ้าภาพมากเกินไป ซึ่งจริงๆ เจ้าภาพใหญ่คือ ป.ป.ช. แต่ละหน่วยงานอาจจะได้รับมอบหมายให้ทำรองๆ คณะกรรมจึงเสนอแนะว่าให้กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบให้ชัดว่าอำนาจหน้าที่อยู่ในอำนาจของใคร ต้องสอบสวนให้ถูกต้องว่าใครมีอำนาจกันแน่ เพื่อเป็นคู่มือให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอนาคต ทุกหน่วยจะได้คิดเห็นกันตรงกัน จะไม่ได้ไม่โยนกันไปโยนมา และให้เป็นบทเรียน ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยนายกฯรับทราบรายงานทั้งหมดหมดแล้ว จึงได้แจ้งให้ 2 หน่วยงาน ไปทำข้อสรุปมา รวมถึงนายกฯจะออกคำสั่งสำนักนายกฯให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ไปดำรงตำแหน่งเดิม ส่วนจะมีคำสั่งเมื่อไหร่นั้นตนไม่ทราบ ซึ่งคำสั่งจะมีผลเมื่อนายกฯลงนาม ส่วนการดำเนินการอย่างอื่นให้ ผบ.ตร.และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการว่าจะต้องสอบวินัยใครเพิ่มเติมหรือไม่
สำหรับกรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น เป็นการออกคำสั่งตามมาตรา 132 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2505 ที่เคยทำกันมาในอดีต แต่ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ได้มีการเพิ่มมามาตราหนึ่งว่า ในกรณีที่สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้วไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น คำสั่งให้ออกราชการไว้ก่อน ต้องทำโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 มีการออกคำสั่งถึง 3 คำสั่งคือ สั่งให้กลับ สตช. สั่งตั้งกรรมการสอบวินัย และสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที ซึ่งเป็นปัญหา และมีการส่งไปหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 เห็นว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนไปกระทบต่อสิทธิประโยชน์และหน้าที่ รวมทั้งสิทธิการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงต้องทำตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวน แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเห็นว่า ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม จึงให้ไปดำเนินการให้ถูกต้อง โดยสถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ขณะนี้ ถือว่าอยู่ระหว่างการรอนำความกราบบังคมทูลฯ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ต้องตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยขณะนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ได้ไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.ตร.) อยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กลับไป สตช.ปัญหาที่ยังค้างคาจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ถามว่ากรณีมีความสับสน วุ่นวาย จนไม่สามารถแก้ไขได้ การที่เอาทั้งสองคนออกมา เราไม่ได้เอาออกมาเพื่อที่จะแก้ไข แต่เอาออกมาเพื่อที่จะตรวจสอบในหลายๆ เรื่อง ซึ่งได้นำมาสู่การแก้ไขต่อไปที่จะมีในอนาคต นายกฯขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันในงานราชการ ส่วนเรื่องส่วนตัวที่แต่ละคนมีอะไรและใครทำผิดก็ขอให้ดำเนินการไปตามกฎหมาย เพราะแต่ละหน่วยงานมีอำนาจอยู่แล้ว ส่วนการทำงานที่จะบังเกิดกับประชาชน ไม่ให้ประชาชนรู้สึกเสื่อมศรัทธา เสียภาพพจน์และภาพลักษณ์ที่มีเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาใน สตช. รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ด้วย เชื่อว่าสถานการณ์จากนี้จะเบาบางลง เพราะที่ผ่าน 4 เดือน ทั้งสองฝ่ายได้มีการพบปะพูดจากันมากพอสมควร คณะกรรมการก็ได้เข้าไปไกล่เกลี่ย แต่ไม่ได้เป็นการซูเอี๋ย และไม่ใช่มวยล้มต้มคนดู แต่หากไม่ทำเช่นนั้น สตช.จะไม่มีหัวขบวน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการแทน ผบ.ตร.จะรับงานไม่ไหว
เมื่อถามอีกว่า การที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กลับไป สตช. จะเกิดความสงบเรียบร้อยใน สตช.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงจะจบ สงบลงไปได้ เพราะเขาคงจะปรองดองกันในการทำงานราชการ ส่วนที่มีอะไรกินใจกันคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และอีกไม่กี่เดือนจะมีการเตรียมหา ผบ.ตร.คนใหม่ แต่อย่างน้อยตอนนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ก็หลุดและไม่เข้ามาเกี่ยวในวงจร ตนก็ตอบได้ว่าก็จะเรียบร้อยไปได้ในระดับหนึ่ง เรื่องต่างๆ ก็จะอ่อนลง ช่วงที่ผ่านมาก็เห็นว่าอ่อนลง แต่การจะให้หมดไปคงไม่ได้ เพราะความขัดแย้งบางเรื่องมีตั้งแต่ปี 57
เมื่อถามว่า คำสั่งที่ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อนใครจะต้องรับผิดชอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าทำไม่ถูกก็ไปทำให้ถูก ส่วนผู้ลงนามในคำสั่งจะมีความผิดหรือไม่นั้น ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือดำเนินการโดยสุจริตก็ไม่มีความผิด แต่ถ้ารู้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีการเปลี่ยนแปลงและไปกลั่นแกล้งก็ถือว่ามีความผิด เมื่อถามว่า หากกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังไม่หลุดออกจากตำแหน่ง ยังมีโอกาสลุ้นตำแหน่งผบ.ตร.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีครับ ใครก็มีโอกาสขึ้นมาทั้งนั้นที่เป็นรองผบ.ตร. หรือเทียบเท่า เมื่อถามว่า กรอบเวลาในการตรวจสอบ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีกำหนดไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ตรงกันข้ามบางเรื่องที่อยู่ใน ป.ป.ช.เขายังระบุไม่ให้นำมาพิจารณาเกี่ยวกับการโยกย้าย