วันที่ 20 มิ.ย.67 นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) มอบหมายให้นายปัณฐวิชญ์ มุ่งสมัครศรีกุล ผู้อำนวยการ สันนิบาตสหกรณ์ฯ พร้อมด้วยนายอุทัย ศรีเทพ  ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูไทย จำกัด,นายจำเริญ พรหมมาศ ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บรรเจิด พฤติกิตติ ประธานชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด นางวันเพ็ญ ดวงมาลา ผู้แทนในส่วนของสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขขนาดใหญ่ ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ยื่นหนังสือถึง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อนำเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน พ.ศ. …..โดยมี ดร.ธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับฟังความเห็นและรับหนังสือ โดยการเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือดังกล่าวเนื่องด้วย รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เรื่องร่างกฎกระทรวงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ส่งถึงคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป  จากการพิจารณาถึงประเด็นต่างๆ ยังมีขบวนการสหกรณ์ในหลายส่วนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎกระทรวงฯ จึงมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ทบทวนและชะลอไว้ก่อน

ด้านนายอุทัย ศรีเทพ เสนอปัญหาของร่างกฎกระทรวงที่มีผลต่อการบริหารงานสหกรณ์ว่า ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ไม่ควรกำกับการบริหารงานสหกรณ์ จนเป็นการบอนไซสหกรณ์ไม่สามารถเติบโตได้ และรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของสหกรณ์แต่การออกกฎหมายบางอย่างบังคับจนขาดหลักการสหกรณ์  กลายเป็นการบริหารงานแบบธนาคาร ซึ่งอุดมการณ์หลักการระหว่าง สหกรณ์และธนาคารไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างในหลายบริบท ทั้งในเรื่องที่มาของสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งเป็นทั้งสมาชิก ผู้กู้ ผู้ฝาก ผู้บริหาร และการเป็นเจ้าของสหกรณ์จะมาใช้หลักเกณฑ์เดียวกับธนาคารจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะทำให้สมาชิกเดือนร้อนจำนวนมาก

นายจำเริญ พรหมมาศ เสนอว่า ให้ชะลอหรือหยุด นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาบังคับใช้ เนื่องจากจะกระทบต่อสวัสดิการของสหกรณ์ ทั้งในเรื่องงวดชำระที่เหมาะสม ไม่ใช่ 150 งวด แต่ต้องให้สมาชิกมีจำนวนงวดที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อต่อลมหายใจ และไม่ควรกำหนดกติกาจนสหกรณ์เดินต่อไปไม่ได้ อายุของการเป็นหนี้ ควรยึดหยุ่นให้มากกว่า 75 ปี เพราะในแต่ละสหกรณ์ออมทรัพย์ มีทั้งผู้ค้ำ และมีการทำประกันหนี้ จึงแทบไม่ต้องกังวล เรื่องหนี้สูญรวมถึง ไม่ควรให้ตั้งหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ จนส่งผลกระทบให้สหกรณ์ลดจำนวนลงอย่างมีนัยยะและอาจจะสูญพันธ์ุในที่สุด

ทั้งนี้ จากการเข้าพบหารือกับที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ข้อสรุปว่าให้สันนิบาตสหกรณ์ฯ จัดทำสรุปผลได้ผลเสียที่จะกระทบต่อสหกรณ์ภาคออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน จากร่างกฎกระทรวงนี้ เพื่อนำเสนอและให้เรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมรับฟังผลกระทบจากกฎกระทรวงในโครงการเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นเรื่องผลกระทบจากกฎกระทรวงฉบับใหม่ใครได้ใครเสียในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย