ช่วงแรกเริ่มของสงครามต่อต้านกลุ่มฮามาสใหม่ๆ ในฉนวนกาซา ปรากฏว่า สถานการณ์และบรรยากาศภายในประเทศอิสราเอล ต่างพากันรวมใจเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในระดับประชาชน ซึ่งมีชาวยิวเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ รวมถึงรัฐบาล ผู้ปกครองบริหารประเทศ ตลอดจนพรรคการเมืองต่างๆ สมัครสมานสามัคคีกันดี ลืมเรื่องราวความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านกันไปก่อน ถึงขนาดจัดตั้งสถาปนารัฐบาลแห่งชาติ เรียกว่า “คณะรัฐมนตรียามสงคราม” ขึ้นมารับมือกับสงครามการสู้รบกับกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาได้เป็นอย่างดี

ทว่า มาถึงบัดนี้ สถานการณ์และบรรยากาศภายในอิสราเอลกลับตาลปัตรพลิกด้าน เมื่อปรากฏว่า บังเกิดรอยปริแยกถึงแตกร้าวทั้งในหมู่ประชาชน รวมไปถึงรัฐบาล อย่างชนิดถ่างกว้างมากขึ้น จนอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออะไรมิอะไรตามมาก็เป็นได้

กล่าวถึงในห้วงเริ่มแรกของ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” ในฉนวนกาซา ที่มีขึ้น ซึ่งปะทุประกายไฟ จนกลายเป็นเปลวไฟของสงครามลุกโชนขึ้นมา ในสงครามของทั้งสองฝ่ายครั้งล่าสุดนั้น ก็เริ่มเสียงปืนแตก ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา

ภายหลังจากกลุ่มติดอาวุธของฮามาส ข้ามพรมแดนบุกจู่โจมอย่างสายฟ้าแลบ แบบไม่ให้อิสราเอล ได้รู้ ได้ทันตั้งตัว

โดยกลุ่มติดอาวุธบุกถล่มโจมตีอิสราเอลอย่างทุกทิศทาง แบบ “น้ำ ฟ้า ฝั่ง” คือ ทางน้ำ ทางอากาศ (ใช้ร่มร่อนเป็นพาหนะและยิงขีปนาวุธเข้ามาโจมตีทางอากาศ) และทางบก รวมไปถึงขั้น “มุดดิน” คือ บุกผ่านอุโมงค์ใต้ดิน ลอบเข้าไปโจมตีในพรมแดนของอิสราเอล

เรียกปฏิบัติจู่โจมอย่างสายฟ้าแลบข้างต้นว่า “ปฏิบัติน้ำท่วมอัล-อักซอ” ส่งผลให้เบื้องต้นมีชาวอิสราเอลเสียชีวิตจำนวนราว 1,200 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,700 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับไปเป็นตัวประกันอีกนับร้อยคน ซึ่งตัวประกันบางส่วนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ขณะที่ อีกจำนวนหนึ่งก็มีทั้งที่เสียชีวิต และที่จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมของเหยื่อตัวประกันผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น

เมื่อถูกลบคมอย่างแบบหมดสภาพดังกล่าว ทางฝั่งอิสราเอล ก็ได้จัดการรับมือเป็นประการต่างๆ โดยในส่วนของทางการภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ได้จัดตั้ง “คณะรัฐมนตรียามสงคราม” ขึ้น

โดย “คณะรัฐมนตรียามสงคราม” ดังกล่าว ก็เป็นการจับไม้ ร่วมมือ กันระหว่างพรรคการเมืองทั้งในซีกรัฐบาล และทางฝั่งฝ่ายค้าน ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ได้ดึงบรรดานักการเมืองระดับแกนนำฝ่ายค้านมาเข้าร่วมคณะรัฐมนตรียามสงคราม ซึ่งรวมถึง “นายเบนนี แกนต์ซ” หัวหน้า “พรรคเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “เนชันแนล ยูนิตี ปาร์ตี” อันเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่มีแนวนโยบายแบบสายกลาง มาเข้าร่วมคณะรัฐมนตรียามสงครามด้วย นอกจากนี้ นายเบนนี แกนต์ซ หรือชื่อเต็มว่า “เบนจามิน แกนต์ซ” ก็ยังเป็นอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอลอีกด้วย จึงทำให้ง่ายที่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ดึงมาเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรียามสงครามดังกล่าว ซึ่งชื่อคณะรัฐมนตรีก็บ่งบอกถึงภาระหน้าที่อยู่แล้วว่า เพื่อมารับมือกับภัยสงครามที่อิสราเอลกำลังเผชิญ

ขณะที่ ทางฟากประชาชนก็ได้ให้การสนับสนุนต่อคณะรัฐมนตรียามสงครามดังกล่าว ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มฮามาส ซึ่งรวมไปถึงการเข้าร่วมกับเป็นกำลังพลของ “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” หรือ “ไอดีเอฟ” ในการประจัญบานกับกลุ่มฮามาส แม้ว่าในประชาชนชาวยิวบางส่วน ก็มีคำถามถึงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู เกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงจากกลุ่มฮามาสที่พวกประสบ เช่น ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ประสิทธิภาพเกี่ยวกับระบบข่าวกรองของประเทศมีปัญหาหรือไม่? ทั้งๆ ที่อิสราเอลได้รับการยกย่องว่า มีหน่วยข่าวกรองระดับแถวหน้าของโลก นั่นคือ หน่วยมอสซาด อันเลื่องชื่อ ทว่า แรงสนับสนุนจากประชาชนก็ยังเป็นไปด้วยดี

กระทั่ง การสู้รบในสงครามฉนวนกาซา ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายเดือนในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่ทางการอิสราเอล ระดมสรรพกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าถล่มโจมตีในพื้นที่ต่างๆ ของฉนวนกาซา จากดินแดนทางตอนเหนือ ไล่มายังตอนกลาง และตอนใต้ เช่น ที่เมืองราฟาห์ ในสถานการณ์สู้รบ ณ ปัจจุบัน ปรากฏว่า แรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้พลิกผันกลายเป็นแรงต่อต้าน จนเกิดการชุมนุมประท้วงกันขึ้น ถึงขนาดกลุ่มผู้ชุมนุมได้ไปก่อม็อบถึงหน้าบ้านพักของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูกันเลยก็มี ในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากการชุมนุมประท้วงที่บริเวณด้านหน้าของอาคารรัฐสภา ในกรุงเทลอาวีฟ แล้ว

ชาวอิสราเอล ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ยังไม่ประสบความสำเร็จช่วยเหลือตัวประกันที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไป ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว (Photo : AFP)

ทั้งนี้ กระแสชุมนุมต่อต้านได้ถูกกระพือโหมหนักขึ้นเมื่อไม่กี่วัน จากเหตุการณ์ที่ทหารของอิสราเอล ถูกระเบิดโจมตีที่เมืองราฟาห์ ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา จนเสียชีวิตถึง 8 นาย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จนนับเป็นการสูญเสียกำลังพลของไอดีเอฟครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในการสงครามกับกลุ่มฮามาสครั้งล่าสุดนี้ ปรากฏว่า ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชนอย่างหนักรุนแรงยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ทางด้านสถานการณ์และบรรยากาศภายใน “คณะรัฐมนตรียามสงคราม” ก็ทวีความร้อนแรงด้วยกระแสของความไม่พอใจระหว่างกันและกันอย่างดุเดือดหนักขึ้น

ถึงขนาดที่สมาชิกในคณะรัฐมนตรีฯ จำนวนหนึ่งได้ขู่ว่า จะตบเท้าลาออกจากคณะรัฐมนตรีฯ และขู่ที่จะล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู กันเลยทีเดียว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากเรื่องแผนการหยุดยิงเพื่อแลกกับการปล่อยตัวประกัน รวมไปถึงการเปิดทางช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากพิษภัยของสงครามการสู้รบ

โดยสถานการณ์และบรรยากาศภายในคณะรัฐมนตรียามสงคราม ดิ่งถลำลงไปในทิศทางที่ไม่ดีนัก เมื่อ “นายเบนจามิน แกนต์ซ” หรือ “นายเบนนี แกนต์ซ” ได้ลาออกจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรียามสงคราม เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ตามคำขู่ที่ประกาศไว้ ซึ่งนอกจากนายเบนนีแล้ว ก็ยังมีนายกาดี ไอเซนคอต ลาออกจากคณะรัฐมนตรียามสงครามตามนายเบนนีไปด้วย

นายเบนจามิน หรือเบนนี แกนต์ซ หัวหน้าพรรคเอกภาพแห่งชาติ และเคยเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล ได้ลาออกจากคณะรัฐมนตรียามสงครามของอิสราเอล (Photo : AFP)

หลังจากนั้น อีกไม่กี่เพลาถัดมา ทางนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ก็ได้ประกาศยุบ “คณะรัฐมนตรียามสงคราม” ไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ซึ่งเหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า การยุบคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อแผนการเจรจาหยุดยิงที่จะมีขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อยุบคณะรัฐมนตรีข้างต้นไปแล้ว อำนาจต่างๆ ก็จะถูกรวบมายังผู้นำ ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู รวมกลุ่มชาตินิยมขวาจัดระดับสุดขั้ว ที่ยังกุมอำนาจเหนือดินแดนอิสราเอลอยู่