ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

หลายฝ่ายเข้าใจว่าสงครามเย็นหมดสิ้นไปแล้ว โดยเฉพาะเชื่อกันว่าภายหลังจากการทลายกำแพงเบอร์ลิน จนมาถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต คงจะไม่มีสงครามเย็นอีกต่อไปและโลกคงเข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพ

แต่เหตุการณ์มิได้เป็นดังคาด ท่ามกลางภาพลวงตาที่พร่ำเพ้อกันถึงสันติภาพ โลกกลับเกิดการปะทุด้วยสงครามขนาดเล็กและขนาดกลาง ภายในหลายพื้นที่และหลายภูมิภาค จนอาจเรียกได้ว่ามันเป็นภาวะ “สันติภาพร้อน” Hot Peace

ดังนั้นจึงควรมาทำความเข้าใจกับคำว่า “สงครามเย็น” กันตามคำจำกัดความจาก Oxford Languages ดังนี้

“การต่อสู้ระหว่างประเทศต่อประเทศด้วยวิธีการต่างๆยกเว้นการทำสงครามกันโดยเปิดเผย แต่ใช้วิธีแข่งขันกันทางกำลังอาวุธกำลังทางเศรษฐกิจแทน เพื่อขัดขวางการขยายอำนาจของกันและกัน”

เมื่อดูตามคำจำกัดความแล้วจะเห็นได้ว่าสงครามเย็นยังมิได้หมดสิ้นไปตามที่เข้าใจ แต่กลับขยายตัวเพิ่มความตึงเครียดขึ้นในอีกหลายพื้นที่ และมีความเข้มข้นกันมากขึ้น

พิจารณาจากกรณียูเครน ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และการรวมเยอรมันเข้าด้วยกัน ฝ่ายตะวันตกได้ประกาศว่าจะไม่มีการขยายกองกำลังนาโต้ออกไปจากที่เป็นอยู่ คือภายในขอบเขตของยุโรปตะวันตก แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะนาโตได้ขยายสมาชิกภาพออกไปในยุโรปตะวันออกอย่างกว้างขวาง ซึ่งนั่นคือพื้นที่เดิมของสนธิสัญญาวอร์ซอที่เคยเป็นกลุ่มกำลังที่นำโดยสหภาพโซเวียต

ฟางเส้นสุดท้ายอยู่ที่ยูเครน หลังจากที่รัสเซียได้แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ก่อนหน้านี้ รวมทั้งปัญหาที่จอร์เจียนั้นจบลงด้วยสงคราม 3 วัน

สุดท้ายรัสเซียก็เคลื่อนพลเข้ายูเครนและกลายเป็นปัญหาที่ยังไม่มีข้อยุติจนทุกวันนี้

อนึ่งการประชุมเพื่อยุติสงครามในยูเครนที่สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีผู้แจ้งเข้าร่วมประชุม 90 ชาติ โดยมีผู้นำจริงๆเพียงน้อยนิด จะไม่มีทางยุติสงครามได้ ถ้าไม่เชิญรัสเซียคู่กรณีเข้าร่วมประชุม ทั้งๆที่ปูตินได้ปูทางไว้ก่อนแล้วว่าพร้อมเจรจา แต่การประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์จึงกลับถูกมองได้ว่าเป็นการรวมพวกเพื่อรุมกินโต๊ะรัสเซียหรือไม่

ดังนั้นประธานาธิบดีปูติน จึงตอบโต้ด้วยการเดินทางเยือนประเทศเกาหลีเหนือ และเวียดนาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารที่รัสเซียมีความสัมพันธ์มาเก่าก่อน โดยที่เกาหลีเหนือเข้าใจว่าคงเป็นความร่วมมือเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านขีปนาวุธให้เกาหลีเหนือและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่วนเวียดนามรัสเซียคงต้องออกแรงสู้กับกลุ่มที่โปรสหรัฐฯ และหนุนกลุ่มโปรจีนตลอดจนสร้างฐานทัพที่อ่าวคามรานเพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันมีมายาวนานแต่เก่าก่อน

เท่านั้นยังไม่พอรัสเซียยังรุกหนักเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้ามีคนเอาปืนมาจ่อหน้าบ้านอย่างที่ยูเครนรัสเซีย จึงเริ่มโครงการติดตั้งขีปนาวุธที่คิวบา และสร้างฐานทัพตลอดจนกระชับความร่วมมือกับคิวบาในทุกๆด้าน

รัสเซียยังติดตั้งขีปนาวุธให้เวเนซูเอลา และนิการากัว ส่วนด้านแอฟริกาก็ขยายความร่วมมือและฐานทัพในซูดานเอริเทรีย ไนเจอร์ บูร์กินาฟาโซ ชาด มาลี และเซเนกัลเพื่อสร้างเส้นทางการทหารจากทะเลแดงไปมหาสมุทรแอตแลนติก รวมทั้งการเจรจาที่เป็นไปด้วยดีกับผู้นำทางทหารนายพลฮัตตาของลิเบียในการจัดตั้งฐานทัพเรือ และติดตั้งขีปนาวุธเพื่อขยายฐานในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเหนือ

เท่านั้นยังไม่พอ รัสเซียยังดำเนินการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอียิปต์ที่เคยมีอยู่เก่าก่อนกับอียิปต์สมัยผู้นำนัสเซอร์ แต่ต่อมาสหรัฐฯได้แย่งซีนจนมาถึงสมัยนายพลซีซีในปัจจุบัน จึงต้องออกแรงหน่อยที่จะกลับเข้ามามีอิทธิพลในอียิปต์ ซึ่งโดยสถานภาพของรัฐบาลที่คุมอำนาจโดยกำลังทหาร แต่ประชาชนไม่ยอมรับนี่ก็คงจะมีโอกาสถูกโค่นล้มได้ไม่ยากโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่

ในอเมริกากลางการสนับสนุนจีนที่กำลังขุดคลองนิการากัวมาแทนคลองปานามาที่ตื้นเขิน และการสนับสนุนกองกำลังที่คล้ายกับฮูตีจะทำให้รัสเซียคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้อีกแห่งนอกจากฮูตีที่ในขณะนี้ยังไม่มีใครจะเข้ามา จัดการกับการปิดกั้นทะเลแดงสำหรับตะวันตกและพันธมิตรของอิสราเอลได้

ทั้งนี้รัสเซียได้จัดส่งจรวด ONYX ที่ทรงประสิทธิภาพให้ฮูตี ที่ทำให้กองเรือของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต้องเผชิญกับภัยคุกคาม จนแม้แต่เรือบรรทุกเครื่องบินไอเซนเฮาว์ และเรือพิฆาตยังถูกโจมตีจนเสียหาย

อนึ่งพึงเข้าใจด้วยว่ายุทธศาสตร์การใช้กองเรือรบที่ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินนั้น มันล้าสมัยแล้วด้วยยุทธวิธีและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นจะมีจุดอ่อนตอนเครื่องบินขึ้นลง นั่นคือระบบป้องกันตนเอง โดยอัตโนมัติจะปิดตัวลง ทำให้เป็นจุดที่จะถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธได้ไม่ยาก

นอกจากพื้นที่ต่างๆดังกล่าวมาแล้ว รัสเซียยังมีโครงการจัดตั้งฐานบริการกองเรือรบที่รัฐยะไข่ ที่จะมีภารกิจคล้ายกับฐานบริการกองเรือรบที่ซูดานในขณะนี้

สิ่งสำคัญที่อยากชี้ให้เห็นคือ ประธานาธิบดีปูตินต้องการแสดงให้เห็นว่า การที่ประธานาธิบดีไบเดน และผู้นำชาติยุโรปบางชาติ ออกมาประกาศว่าจะไม่มีขอบเขตจำกัดสำหรับอาวุธที่ชาติตะวันตกให้ยูเครน ในการไปโจมตีเข้าไปในรัสเซียได้ นั่นคือการคุกคามรัสเซียโดยตรง และนั่นอาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์แทนสงครามตัวแทนหรือสงครามเย็นอย่างในปัจจุบันนี้รัสเซียก็สามารถเอาคืนได้หลายเท่า

สุดท้ายขอประชาสัมพันธ์งานการกุศล คือ องค์กรรณรงค์เพื่อความเป็นปึกแผ่นกับปาเลสไตน์ Palastine Solidality Campaign (PSC-T) จะจัดงานชื่อ “Peace For All” เพื่อเรียกร้องสันติภาพและมนุษยธรรมให้แก่ชาวกาซา และชาวโลกที่ถูกกดขี่ข่มเหง เข่นฆ่า ทารุณ โดยรูปแบบงานจะออกมาในรูปการแสดงภาพวาดโดยจิตรกรมีชื่อและการประกวดวาดภาพระดับอุดมศึกษา โดยรายได้หลังจัดงานจะจัดซื้อเวชภัณฑ์ส่งไปช่วยชาวกาซาโดยผ่านองค์กรสภาเครือข่ายเพื่อมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ทั้งนี้งานจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม – 18 สิงหาคม ฟรีค่าเข้าชมงานครับ