กำลังเป็นประเด็นสนใจ ในวงสนทนาของประชาชนชาวน่าน ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา  ซึ่งหลายคนเข้าไปส่องประวัติ ผู้ผ่านการคัดเลือกไปในรอบระดับประเทศ ผ่านทางแอปพลิเคชัน Smart Vote และเว็บไซต์ กกต. และพบว่าหลายราย มีอาชีพไม่ตรงกับกลุ่มวิชาชีพที่สมัคร  อีกทั้งจำนวนมากที่ระบุประสบการณ์  ดูไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา อาทิ  ระบุประสบการณ์การทำงานเพียง “กรีดยางมาเป็นระยะเวลา 10 ปี” หรือ “ หรือ มีความชำนาญในการดำนา” รวมถึงการเป็น “จิตอาสาเก็บขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม”  จนเกิดคำถามว่า ผู้ที่มีประสบการณ์เหล่านี้ จะสามารถทำหน้าที่ สว.ได้  มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการตำแหน่ง สว.หรือไม่ 

นายสมชาย (ชอสงวนนามสกุล)  ข้าราชการบำนาญ จ.น่าน   ชี้ให้เห็นถึงจุดด้อย หลังเข้าไปส่องประวัติผู้สมัคร สว.ระดับประเทศ  ในสาขาอาชีพแต่ละกลุ่ม ที่ดูจะมั่ว และจะมีอาชีพเกษตรกร ไปปะปนอยู่ในแทบทุกกลุ่ม เห็นชัดเจนกลุ่มสาธารณสุข ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความรู้ความสามารถด้านอะไร แต่ก็มีคนอาชีพทำนา เกษตรกรรม อยู่ร่วมด้วย  นอกไปกว่านี้ ยังพบมีรายละเอียดประสบการณ์ ระบุจบ ป.4  ทำนา มาตลอดชีวิต  ซึ่งดูไม่ค่อยเหมาะสมกับการมาสมัครเป็น สว. 

นายประทีป ทรงลำยอง อดีตรองปลัดกระทวงแรงงาน  และเป็น 1 ในผู้สมัครสว.ตกรอบระดับอำเภอ จ.น่าน  เปิดเผยว่า เป็นที่น่าสังเกตในเรื่องของความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ 10 ปี ของผู้สมัครหลายราย ไม่ตรงกับกลุ่มวิชาชีพ  อย่างไรก็ตามตนเองมองว่า หน้าที่ สว.เป็นผู้ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถค่อนข้างสูง  ไม่ใช่ใครก็ได้  น่าที่จะต้องมีการคัดกรองตั้งแต่การศึกษา  ความเชี่ยวชาญ 10 ปี ก็ต้องมีการเอกสาร หลักฐานยืนยันชัดเจน  เพื่อให้ได้บุคคลเข้าไปทำหน้าที่ได้เหมาะสมกับตำแหน่ง  และเป็นการเลือกสมาชิกวุฒิสภาด้วยความโปร่งใสและเที่ยงธรรม ได้คนที่มีความรู้ความสามารถจริงไปทำหน้าที่

ด้านนายก้องเกียรติ พิมพศักดิ์  ผู้สมัคร สว.ตกรอบระดับจังหวัด จ.หนองคาย  เปิดเผยว่า  ตนเองให้ความสำคัญกับเอกสารการสมัคร คุณสมบัติเชี่ยวชาญ 10 ปี  ถึงขนาดต้องกลับไปที่ทำงานเดิมเพื่อขอหนังสือรับรองมาประกอบสมัคร แต่กลับพบว่าเพื่อนผู้สมัครร่วมกลุ่ม ระบุอาชีพ จิตอาสาเก็บขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม  ซึ่งมองว่าการคัดกรองวิชาชีพไม่ชัดเจน และยังมีกลุ่ม 17 ระบุเป็นคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน จนถึงปัจจุบัน  ขณะที่ระเบียบคณะกรรมการกองทุนจะดำรงวาระ 2 ปี และติดต่อกันไม่เกิน 2 ปี ตรงนี้เห็นชัดเจนว่าไม่ตรงคุณสมบัติ เชี่ยวชาญ 10 ปี  หลายรายมีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่ตรงกลุ่ม หรืออาจลงผิดกลุ่ม  จึงอยากให้ กกต.ได้ตรวจสอบความรู้ความเชี่ยวชาญ 10 ปี ของผู้สมัคร  ซึ่งถึงแม้ว่าตนเองจะตกรอบ แต่ก็อยากได้บุคคลมีคุณภาพไปทำหน้าที่ สว.