เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 20 มิ.ย.ที่อาคารรัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์และพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์  พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์  เสนาธิการทหารบก ในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ธนะศักดิ์ ชื่นอิ่ม  รองปลัดกระทรวงกลาโหม  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

 

โดยนายกฯรับฟังการรายงานรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และแนวโน้มสถานการณ์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ และแผนการดูแลและช่วยเหลือประชาชน

 

จากนั้นนายกฯ กล่าวว่า ตนได้เคยเชิญประชุมบริหารจัดการน้ำเมื่อ เดือน พ.ค. เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งประเมินสถานการณ์ เตรียมความพร้อมรับมือน้ำทั้งประเทศ วางแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงบรรเทาผลกระทบให้น้อยที่สุด บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปัญหาบางอย่างอาจจะแก้ไขยาก อาจจะดำเนินการในหน่วยงานเดียว แต่ถ้าประสานงานร่วมมือกันประสิทธิภาพก็จะเพิ่มขึ้น 

 

นายกฯ กล่าวว่า โครงการและกิจกรรมต่างๆที่รัฐบาลได้ดำเนินงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 หลายๆโครงการมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เช่น โครงการแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ โครงการพัฒนา 72 สายน้ำที่ยั่งยืน ตลอดจนการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบาย เกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้อยู่ดีกินดี

 

นายกฯ กล่าวว่า วันนี้อยากขอติดตามและรับฟังปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการแก้ไขความพร้อมและแนวทางช่วยเหลือประชาชนในการประเมินปัญหาเรื่องน้ำ อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนวางกรอบเวลาที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ รัฐบาลพร้อมที่สนับสนุนเต็มที่

 

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุมนายกฯได้สอบถามถึงเรื่องการกักเก็บน้ำ ระบายน้ำที่จังหวัดอุบลราชธานี และความเสี่ยงของน้ำแล้ง พร้อมกับสอบถามด้วยว่าในปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ในพื้นที่ไหน

 

นายสุรสีห์ กล่าวยอมรับว่าท่วม  ซึ่งน้ำท่วมฉับพลันมีแน่นอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครน่าจะมี เนื่องจากปัจจุบันสภาพอากาศแปรปรวนในเรื่องความเข้มของฝน  ยกตัวอย่างเช่นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบบการระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมา บางครั้งความเข้มเกิน  60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หรือบางช่วงถึง 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเกิดน้ำขังรอการระบาย และพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆมีแนวโน้มที่จะท่วมอย่างแน่นอน และในช่วงฤดูฝนปีนี้ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ จึงมีแนวโน้มที่จะท่วม แต่เราได้มีการเตรียมการ และบริหารจัดการทุกรูปแบบ เพราะถ้าไม่ทำก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมในปริมาณมาก และอาจเป็นช่วงระยะเวลายาว แต่ที่เราวางมาตรการรับมือไว้ในบางพื้นที่อาจจะท่วม

แต่เมื่อมีการป้องกันก็อาจจะไม่ท่วมได้  รวมถึงบางพื้นที่มีแนวโน้มอาจจะท่วมมาก แต่ก็อาจจะทำให้ท่วมน้อยลงหลังจากที่เราดำเนินมาตรการต่างๆที่วางไว้

 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวรายงานว่ากรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขจุดต่างๆตามที่นายกฯมอบนโยบายไว้แล้ว โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ดำเนินการไปเกือบครบถ้วนแล้ว ทั้งขุดลอกคูคลอง ลอกท่อ เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนที่ต้องขอสนับสนุนคือขอสนับสนุนกองทัพเรือเรื่องเครื่องผันน้ำ จึงขออนุญาตประสานกองทัพเรือต่อไป และในเรื่องของกรมชลประทานขอให้ช่วยระบายน้ำคลองรังสิตและเขตประเวศ ซึ่งที่ผ่านมาฝนตกทางกรมชลประทานช่วยกรุณาระบายน้ำออก ทำให้ลดระดับน้ำลงได้ และอีกส่วนคือกรมทางหลวงที่มีพื้นที่บริหารที่ยังทำคูระบายน้ำไม่เสร็จในจุดวิภาวดี ก็จะเร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่กรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือดีมาก เรื่องการลอกท่อ ต้องขอชื่นชม

 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราได้ถอดบทเรียนทุกปีของสถานการณ์น้ำ ซึ่งเห็นว่ายังไม่ได้เตรียมเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงอยากรบกวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน เพื่อตั้งศูนย์บริหารบริการสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกๆภาคด้วย 

 

ขณะที่นายกฯ กล่าวอีกว่า ศูนย์ส่วนหน้าทำงานมา 2 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหา ดังนั้นเราควรมาพูดกันว่าตรงไหนไม่เวิร์คแล้วตรงไหนต้องแก้ไขปัญหาบ้าง ส่วนข้อเสนอของ ร.อ.ธรรมนัส โดยหลักการให้ทุกกระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้รับไปปฏิบัติตามด้วย 

 

นายกฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เห็นด้วยปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นวาระแห่งชาติต้องวางแผนอย่างรอบคอบในการแก้ไขปัญหาระยะยาว ซึ่งขณะนี้การเข้าฤดูฝน 3 เดือนระยะสั้นนี้ให้เน้นการทำงานที่มีเอกภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เรามาทำงานร่วมกันหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เข้าใจน้ำท่วมมีทุกปี แต่ต้องทำให้น้อยที่สุด เอาที่สามารถทำได้ และต้องยอมรับว่าเราทำได้ดีกว่านี้และทำงานร่วมกันให้ดีขึ้น มองปัญหาอนาคตอย่างที่จังหวัดอุบลราชธานี การพยากรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยาถือเป็นส่วนสำคัญ เราต้องทำงานร่วมกันให้มีเอกภาพ ถ้าเกิดปัญหาก็ต้องช่วยเหลือกันไป จริงๆแล้ววันนี้ต้องขอบคุณที่สละเวลากันมา ได้ข้อคิด หลักการทำงานที่จะต้องเดินต่อไป ขอสรุปสั้นๆข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์น้ำ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ทุ่งลำน้ำ พื้นที่ลุ่มจุดเกิดน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ให้เกิดน้ำเน่าเกิดขึ้น พื้นที่เศรษฐกิจชุมชนเมืองต้องป้องกันน้ำเข้าห้ามเกิดน้ำไหลท่วมฉับพลัน ต้องมีแผนเร่งระบายน้ำ  หน่วยงานจะต้องเข้าร่วมกันดูแลอย่างเป็นเอกภาพ วางแผนบูรณาการให้ดี เรื่องเคลียร์ทางน้ำวัชพืชที่ทำให้เกิดความตื้นเขิน ซึ่งเคยคุยกับรมว.กลาโหมและกองทัพ ในประสิทธิภาพการช่วยเหลือตรวจเช็คความแรงของเขื่อนกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ รวมถึงการเตือนภัยของกรมอุตุฯต้องชัดเจนแม่นยำ เพราะอันตรายจะมาได้ถ้าไม่มีการแจ้งเตือน ดูถึงผลผลิตการเดือดร้อนของเกษตรกรด้วย แผนการช่วยเหลือประชาชนหากมีน้ำท่วมเกิดขึ้น ซึ่งปีนี้เราคิดว่าจะไม่มี แต่แน่นอนเราต้องมีความพร้อมเตรียมเรื่องของเรือ เวชภัณฑ์ ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานรัฐ ราชการต่างๆ และหน่วยความมั่นคง ที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะ ที่ผ่านมาอย่างที่ทราบกันดีรองนายกฯบอกปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งต้องดูเรื่องบูรณาการและแผนระยะยาว และเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง เราคุยกันในช่วง 4-5 เดือนข้างหน้านี้ก็ต้องแก้ไขปัญหาด้วย ขอให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสานงานกันอย่างดี