นักบรรพชีวินวิทยา ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ ฟันไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่ม ญาติเก่าแก่ของ T.rex ยุคจูแรสซิกในประเทศไทย

นายวงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา ร่วมกับ ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ฟันเดี่ยวของไดโนเสาร์ กลุ่มไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่ม (basal tyrannosauroid) ในพื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในญาติเก่าแก่ของไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชื่อดังอย่าง ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที.เร็กซ์ในยุคครีเทเชียสตอนปลาย
นายวงศ์เวชช เชาวน์ชูเวชช นิสิตปริญญาโท ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา อาจารย์ที่ปรึกษา ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยละการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์

ฟันเดี่ยวของไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มถูกพบในหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง มีอายุอยู่ในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปีก่อน โดยมีลักษณะของฟันที่โดดเด่น 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่

สันฟันด้านหน้าที่ขยายไปไม่ถึงเส้นแบ่งรากฟันและโค้งเข้าหาลิ้น (twisted mesial carnae not reach the cervix) และพื้นผิวเคลือบฟันหรืออีนาเมลที่มีลักษณะเป็นริ้วถัก (braided enamel surface texture) ซึ่งฟันของไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มนี้มีลักษณะที่แตกต่างกับฟันของไดโนเสาร์กินเนื้ออีกชนิดที่พบซากดึกดำบรรพ์รวมกันในแหล่งอย่างเมเทรียแคนโธซอริด (metriacanthosaurid) เนื่องจากฟันของเมเทรียแคนโธซอริดมีสันฟันด้านหน้าที่ขยายเลยเส้นแบ่งรากฟันและพื้นผิวเคลือบฟันที่มีลักษณะเป็นขรุขระ จึงเป็นหลักฐานการมีอยู่ของไดโนเสาร์กินเนื้อกลุ่มในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จากการวิเคราะห์ทางอนุกรมวิธานและสถิติ ไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มภูน้อยมีความใกล้ชิดทางสายวิวัฒนาการกกับไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มอย่าง กวนหลง (Guanlong) จากประเทศจีน และโปรเซราโทซอรัส (Proceratosaurus) จากประเทศอังกฤษ

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มา:องค์การบริหารส่วนตำบลดินจี่

ภาพจำลองไดโนเสาร์ไทแรนโนซอยด์แรกเริ่ม ยุคจูแรสซิก ประเทศไทย ที่มา: เพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ

การมีอยู่ของไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มนั้นเป็นหลักฐานบ่งชี้ให้เห็นถึงนิเวศวิทยาบรรพกาลอันอุดมสมบูรณ์ของหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง ยุคจูแรสซิกของประเทศไทย ซึ่งมีห่วงโซ่อาหารที่ซับซ้อนและแสดงให้เห็นถึงลำดับขั้นการล่าของสัตว์นักล่าในระบบนิเวศ โดยไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างเมเทรียแคนโธซอริดอาจล่าสัตว์กินพืชขนาดใหญ่อย่างไดโนเสาร์กลุ่มมาเมนชิซอริดหรือสเตโกซอริด ในขณะที่สัตว์กินพืชขนาดเล็กอย่าง มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าระดับรองอย่างไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่ม รวมถึงการค้นพบนี้ยังช่วยทำให้เราเข้าใจถึงการกระจายตัวเชิงชีวภูมิศาสตร์บรรพกาลของไทแรนโนซอรอยด์ในช่วงปลายยุคจูแรสซิกอีกด้วย

ภาพจำลองไดโนเสาร์ไทแรนโนซอยด์แรกเริ่มกำลังไล่ล่าไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ที่มา: เพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ

ภาพจำลองสภาพแวดล้อมบรรพกาลของหมวดหินภูกระดึงตอนล่าง ยุคจูแรสซิกตอนปลาย ประเทศไทย ที่มา: เพจไดโนเสาร์เล่าแบบไทยๆ

งานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นรายงานการค้นพบไดโนเสาร์กลุ่มไทแรนโนซอรอยด์แรกเริ่มครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตอกย้ำความสำคัญของอุทยานธรณีกาฬสินธุ์ Kalasin GEOPARK ในประเทศไทยอีกด้วย