วันที่ 20 มิ.ย.ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง พร้อมกับการนำประเทศไทยไปสู่ระดับกลุ่มที่ 1 (Tier 1)

ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้ ตร. มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็น ผอ.ศพดส.ตร. เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มอบนโยบายพร้อมขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติกับหน่วย บช.น., ภ.1-9, บช.ก., บช.สอท., สตม., สยศ.ตร., สทส., จต. และ วน. 
เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใน 3 มิติงาน 10 มาตรการ ดังนี้

มิติด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย ต้องเร่งรัดให้มีผลการจับกุมคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ อย่างน้อย บช. ละ 3 คดีต่อเดือน และให้ชุดจับกุมสืบสวนขยายผลไปสู่ความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง โดยต้องมีความละเอียดรอบคอบในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน กรณีจับกุมคนต่างด้าวเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานภาคประมง ทั้งในอุตสาหกรรมบนบกและทางทะเล ให้พิจารณานำกลไกการส่งต่อ NRM (National Referral Mechanism) มาใช้ในกระบวนการคัดแยกเหยื่อ เพื่อขยายผลคดีการหลอกลวงและการบังคับใช้แรงงาน สำหรับประมงผิดกฎหมาย เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในรูปแบบแรงงานประมงและแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมง นอกจากการตรวจกลางทะเล ให้ บก.รน. ขยายผลการสืบสวนในกลุ่มผู้ใช้แรงงานด้านประมงนี้ด้วย โดยประสานข้อมูลกับ 22 จว. ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล และนำกลไกการส่งต่อระดับชาติ มาใช้กับการจับกุมเรือประมงไม่ปรากฏสัญชาติด้วย 
ในคดีค้ามนุษย์ทุกคดี ให้พนักงานสอบสวนประสานกับอัยการแผนกคดีค้ามนุษย์โดยใกล้ชิด ก่อนมีความเห็นทางคดี และส่งสำนวนคดี เพื่อการสั่งคดีที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นอกจากนี้ทุก สน./สภ.ต้องรายงานผลตามแบบ ปคม.01 และบันทึกข้อมูลลงระบบ E-AHT ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นปัจจุบัน

มิติด้านการคุ้มครองดูแลผู้เสียหาย ภายใต้หลักการสากลและเท่าเทียม ให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ และคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายภายใต้กลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ให้มีความพร้อม มีการคัดแยกผู้เสียหายค้ามนุษย์ทุกราย ก่อนส่งตัวให้ สตม. ผลักดันส่งกลับประเทศ เน้นการบูรณาการแสวงหาความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม NGOs รวมถึงการนำเทคโนโลยี ลดปัญหาการทำงานที่ล่าช้า และให้ทุกหน่วยให้ถือปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติ ตร. กรณีคนต่างด้าวเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาในคดีอาญา หรือถึงแก่ความตายโดยผิดธรรมชาติอย่างเคร่งครัด
   
มิติด้านการป้องกัน เน้นการสร้างภาคีเครือข่าย เฝ้าระวังปัญหาการค้ามนุษย์แบบมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน มีการทำงานเชิงรุก และให้ความสำคัญในคดีการบังคับใช้แรงงาน บริการภาคประมง และการนำคนมาขอทานให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการดำเนินโครงการ D.A.R.E 2 C.A.R.E อย่างต่อเนื่อง และให้ บก.รน. และ ภ.จว. ที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล 22 จว. ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์รับแจ้งเรือเข้าออก PIPO (Port In Port Out) อย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
 
พล.ต.ท.ประจวบ  กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป