วันที่ 20 มิถุนายน 2567 จากกรณีมีการเผยแพร่เอกสารรายการค่าใช้จ่ายของทหารกองประจำการหลายรายการ โดยเฉพาะค่าดูดส้วม จนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมเป็นวงกว้าง ต่อมาคณะรัฐมนตรี อนุมัติเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพให้ทหารกองประจำการทั่วประเทศประมาณ 140,000 นาย ให้รับเงินเดือนถึง 11,000 บาทต่อเดือน นั้น
ล่าสุดกระทรวงกลาโหม กำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการหักเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนของทหารกองประจำการในส่วนราชการ สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยหน่วยที่รับผิดชอบ กำกับดูแล รวมถึงให้การสนับสนุนการฝึกทหารใหม่ สามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ตรงตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม จึงกำหนด กลุ่มค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องหักจากเงินเดือนพลทหาร คือ การหักค่าประกอบเลี้ยง ประมาณ 2,100 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 70 บาท (หรือมื้อละ 23 บาท) ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ การใช้จ่ายงบประมาณของรายการค่าเบี้ยเลี้ยง
กลุ่มที่ 2 ค่าใช้จ่ายสิ่งของที่ควรดำเนินการจัดหาให้เป็นภาพรวม โดยหักจากเงินเดือนทหาร คือ สิ่งของแรกรับ เช่น ของใช้ส่วนตัวในรายการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณได้ เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับพลทหารที่ไม่สามารถจัดหาของใช้ส่วนตัวได้ครบ และการจัดหาคราวละมากๆ จะทำให้จัดหาได้ในราคาที่ถูกลง หากตรวจพบจัดหาแพงกว่าราคาในตลาด ผู้เกี่ยวข้องต้องจะถูกลงโทษ
กลุ่มที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่หักจากเงินเดือนทหารตามความสมัครใจ คือ รายการที่พลทหาร สามารถเลือกได้ว่าจะให้หักเงินเดือนหรือจะไม่ให้หัก เช่น ค่าบริการต่าง ๆ การซักรีด การตัดเย็บแก้เครื่องแบบ การใช้บริการในร้านค้าสวัสดิการ
สำหรับประเด็นมีปัญหาคือ การจัดหาชุดฝึก ชุดวอร์มเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้รับแจกจ่าย 3 ชุด เนื่องจากหลายหน่วยมองว่าชุดที่แจกไม่พอดีตัว จึงให้ไปตัดเพิ่มให้พอดีตัว และหักเงินจากทหารกองประจำการ เพื่อความสง่างาม
โดยกระทรวงกลาโหม มอบหลักการไปว่า ในยุคนี้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ทหารไม่จำเป็นต้องดูดีหรือสง่างาม ให้เป็นเรื่องรอง แต่ต้องทำให้เงินเดือนเหลือใช้ให้มากที่สุด จึงให้หลักการไปว่า ชุดแจกไป 3 ชุด ใช้การฝึก 2 ชุด ส่วนอีก1ชุด เก็บไว้ใส่กลับบ้าน ยกเว้นทหารสมัครใจไปตัดกันเอง เพราะบางคนเป็นแค่ 6 เดือน ไปให้เขาตัดชุดเพิ่ม กลับไปอยู่บ้านไม่ได้ใช้ และหากมองว่า 2 ชุดไม่เพียงพอต่อการฝึก หากอีก 1 ชุดเก็บไว้ใส่กลับบ้าน ในอนาคตให้เพิ่มแจกเป็น 4 ชุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ทหารกองประจำการต้องมารับผิดชอบ
ส่วนกระเป๋าเป้ สำหรับใส่ของประกอบชุดฝึก เวลาเดินทางเข้า-ออกจากหน่วยฝึก เป็นต้น (ในกรณีที่หน่วยพิจารณาว่าสิ่งอุปกรณ์ รายการใดมีประโยชน์และมีความจำเป็นแต่ทางราชการยังไม่ได้แจกจ่าย ให้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการ ดำเนินการแจกจ่ายต่อไป มิให้หักจากเงินเดือนทหารเป็นส่วนรวม)
กลุ่มที่ 4 ค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรหักจากเงินเดือนทหาร คือ รายการที่หน่วยฝึกทหารใหม่ควรเป็น ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้นๆ เช่น ค่าเครื่องช่วยฝึก ค่าเครื่องสนาม เช่น กระติกน้ำ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าดูดส้วม wifi เป็นต้น นอกจากนี้อุปกรณ์ตรวจยาเสพติด ชุดตรวจโควิด หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ ทำความสะอาด
ส่วนค่าประกันชีวิต พบว่า มีการเก็บในบางเหล่าทัพ กระทรวงกลาโหม ให้แนวทางไปว่า ให้นำรายได้จากสวัสดิการเชิงธุรกิจ มาดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โดย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็เห็นชอบด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมคือ 1.ในห้วงการฝึกทหารใหม่ ไม่ควรมีการจัดหาเครื่องแต่งกายและหรือของใช้ส่วนตัวเพิ่มเติม นอกเหนือจากรายการที่ได้รับการแจกจ่ายจากทางราชการ
2.กรณีที่จำเป็นต้องจัดหาสิ่งของเพิ่มเติมโดยใช้เงินเดือนของทหารกองประจำการ จะต้องชี้แจงให้ทหารกองประจำการรับทราบและเข้าใจประโยชน์และความจำเป็น และควรดำเนินการโดยความสมัครใจ ของทหารกองประจำการ
3.การจัดหาสิ่งของเพิ่มเติมให้แก่ทหารกองประจำการ ต้องอยู่ในการพิจารณาและอนุมัติของ ผบ.หน่วยทหารระดับ ผบ.พัน หรือเทียบเท่าขึ้นไป
4. การชำระค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมจากเงินเดือนของทหารกองประจำการ ในกรณีที่มีวงเงินค่อนข้างสูงให้พิจารณาหักเงินเดือนทหารกองประจำการให้น้อยที่สุด โดยใช้วิธีการผ่อนชำระเป็นรายเดือน
และ 5.ให้ควบคุมและกำกับดูแลราคาสินค้าที่จัดหาและจำหน่ายผ่านร้านค้าสวัสดิการ (PX) ให้แก่ทหารกองประจำการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ให้มีราคาสูงกว่าราคาในท้องตลาด
โดยให้ ผบ.หน่วย ทุกระดับ รับผิดชอบกำกับดูแลการปฏิบัติในภาพรวมให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงกลาโหม พร้อมส่งเจรทหารเหล่าทัพซุ่มตรวจ หากพบไม่ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงกลาโหมจะต้องลงโทษอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้น