วันที่ 20 มิ.ย.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธาน สภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรกต่อเนื่องเป็นวันที่สอง

จากนั้นนายปารมี  ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ปัจจุบันมีเด็กหลุดออกนอกระบบ 1.02 ล้านคน เท่ากับเด็กไทย 100 คน หลุดออกนอกระบบ 8 คน ความยากจนคือสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบ เรายังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าระบบการศึกษาอย่างมาก เด็กยากจนคือเด็กที่หลุดออกนอกระบบเป็นกลุ่มแรก กว่าครึ่งของเด็กกลุ่มนี้ต้องการทำงานมากกว่าเรียนหนังสือ แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ให้กับเด็กกลุ่มนี้ เหมือนเป็นการผลักเขาออกนอกระบบ ทำเขาตกหล่นไม่โอบรับ ดังนั้น รัฐบาลต้องห้ามเลือดไม่ให้ไหลมากกว่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับเด็กปัจจุบันที่ยังไม่หลุดออกจากระบบ แต่มีแนวโน้มกำลงจะหลุด 2.8 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความยากจนรุนแรงที่สุดในประเทศ 

นายปารมี กล่าวต่อว่า รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแบบเร่งด่วน แต่กลับจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงไม่เพียงพอ ซึ่งในงบ 68 กสศ.ของบ 7,800 ล้านบาท แต่รัฐบาลให้เพียง 6,900 ล้านบาท หากเราต้องการช่วยเด็กกลุ่มนี้ที่มีจำนวนล้านกว่าคนที่ออกนอกระบบไปแล้ว ตนคิดว่ากสศ. ต้องได้รับงบประมาณมากกว่านี้ นอกจากนี้ ข้อมูลของกสศ. ยังพบว่าในระดับอุดมศึกษา เด็กกลุ่มยากจนรุนแรงสามารถเรียนต่อระดับอุดมศึกษาได้เพียง 12.4% สาเหตุเพราะค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยระบบ T CAS ในปัจจุบันสูงมากหลักหลายพันบาท เด็กที่มีฐานะดีจะสอบกี่วิชาก็ได้ แต่เป็นการผลักเด็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสด้านการเงิน และเด็กบางคนแม้จะมีแรงฮึดสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แต่ก็ไม่มีเงินเรียน

นายปารมี กล่าวต่อว่า ขณะนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กำลังมีปัญหาใหญ่ขาดสภาพคล่องหนักมาก โดยกลับมาขอรับงบประมาณในรอบหลายสิบปี ซึ่งงบประมาณรายจ่ายของปี 67 ขอถึง 1.9 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลให้ได้แค่ 800 ล้านบาท ส่วนงบ 68 ขอ 5,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลไม่ให้แม้แต่บาทเดียว และอาจจำเป็นต้องตัดเงินกู้ยืมที่จะให้เด็กในปีการศึกษานี้ หรือหากยังมีปัญหาอาจต้องตัดเงินที่ให้เด็กไปแล้วซึ่งอาจทำให้ไม่มีเงินเรียนต่อ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ดังนั้น ตนขอเสนอการจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือต้องเร่งช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบ ต้องไม่จัดงบแบบการอุดหนุนรายหัว การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องฟรีจริง เพิ่มประสิทธิประโยชน์จูงใจครูให้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก ปฏิรูปหลักสูตร และสร้างการศึกษาแบบไร้รอยต่อ อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ T CAS

“การที่เด็กคนหนึ่งได้รับการศึกษาที่ดีจะเป็นบันไดสำคัญในการเข้าสู่รายได้ และคุณภาพชีวิต หากไม่มีการสนับสนุนจากรัฐจะเกิดปัญหาอื่นตามมา วันนี้ท่านเพิกเฉยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หวังว่าท่านจะได้บริหารงบประมาณใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เด็กไทยหลุดออกจากระบบ และให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่เสมอภาคกัน” นายปารมี กล่าว



ต่อมาเวลา 10.19 น. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงกรณีจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนกยศ. ว่า กองทุนของบประมาณครั้งแรกในรอบหลายปี เพราะมีการปรับแก้ไขกฎหมายกยศ. ปรับโครงสร้าง ฉะนั้น เวลานี้จึงเหมือนเป็นช่วงปรับตัวให้เข้ากับพ.ร.บ.ใหม่ ซึ่งกองทนุของบมาทั้งสิ้น 1.9 หมื่นล้านบาท แต่เราจัดสรรให้ 800 ล้านบาท ซึ่งดูแล้วว่าบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบเงินที่คงเหลือในกองทุน รวมถึงเงินที่ได้รับการชำระจากลูกหนี้ ยังสามารถจัดการบริหารเงินได้ในกรอบที่จะรับเงินเพิ่มเติม 800 ล้านบาท แต่ถ้าไม่พอก็มีกลไกรองรับอื่นๆ เช่น งบกลาง ยืนยันว่าจะไม่มีนักเรียน นักศึกษาหลุดจากระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถกู้ยืมกยศ.ได้ และเรายังตั้งเป้าการกู้ยืมที่ 6.2 แสนราย แบ่งเป็นนักเรียนเก่า 75 เปอร์เซ็นต์ และนักเรียนใหม่ 25 เปอร์เซ็นต์

“การแก้ไขพ.ร.บ.กยศ. เป็นการแก้เบี้ยปรับจาก 18 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 0.5 เปอร์เซ็นต์  ไม่ให้มีคนค้ำประกัน และกฎหมายมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันแรกจนชำระคืนวันสุดท้าย ภายหลังจากที่ได้คำนวณใหม่แล้ว กยศ.ยังค้างเงินให้กับลูกหนี้หลาสยราย รวมเป็นเงินพันล้านบาท เพราะเมื่อคำนวณแล้วเขาจ่ายเกินมาก แต่ทั้งหมดอยู่ในกรอบบริหารทางการเงินที่สามารถจัดการได้” รมช.คลัง กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้เกิด Moral Hazard เล็กๆ กยศ. กลายเป็นเป้าสุดท้ายที่ประชาชนผู้กู้จะมาคืน เพราะไม่โดนฟ้อง ค้ำประกันก็ไม่มี ดอกเบี้ยก็ถูก ถ้าเทียบกับหนี้ในส่วนอื่นๆ ลูกหนี้ก็จะไปชำระหนี้อื่นๆก่อน แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่มีแนวคิดปรับแก้ไขกฎหมาย เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นมติจากที่ประขุมรัฐสภาที่ให้ความเห็นชอบ เราก็มีภาระรับโจทย์นี้ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นประโยชน์กับนักเรียน นักศึกษา

“วันนี้เราไม่มีกระบอง ก็หากลไกให้เกิดแรงจูงใจให้เขาเป็นผู้กู้ที่ดี โดยกำลังพูดคุยกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชำระดีกับกยศ. จะถือเป็นลูกค้าเกรดเอ ถ้าเดินเข้าไปในธนาคารออมสินหรือธนาคารธกส. จะมีโอกาสได้รับเงินกู้ที่ง่ายขึ้น มากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ทั้งนี้ เพื่อหาวิธีการให้กองทุนสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง และยืนยันการจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างพอดี ไม่มีถมเงินไปที่กองทุนใดกองทุนหนึ่ง และยืนยันผู้กู้ในปีนี้ 6 แสนกว่าราย ต้องได้กู้อย่างแน่นอน" นายจุลพันธ์ กล่าว