วันที่ 20 มิ.ย.2567 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธาน สภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท วาระแรกต่อเนื่องเป็นวันที่สอง 

โดยน.ส.ลินธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายเป็นคนแรกถึงปัญหาการศึกษาว่า สถานการณ์ปัญหาโควิด-19 ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการ ศึกษาได้ ขณะเดียวกันเด็กไทยมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นทุกปี อัตราฆ่าตัวตายในเยาวชนสูงขึ้น โดยเฉพาะอายุ 15-19ปี แต่ไม่น่าตกใจเท่าปัญหาอาชญากรรมในเด็กเยาวชน  ปี 2566 มีเด็กถูกดำเนินคดี 12,600 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา การจัดงบประมาณรายจ่าย ปี2568 รัฐบาลจึงให้ความสำคัญจัดงบการศึกษา สร้างสังคมเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ให้เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา

มีพันธกิจ 3 สำคัญประการคือ 1.นโยบายThailand  Zero Dropout  ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) วงเงิน 6,980 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนๆ สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่มากขึ้น ไม่ให้เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา 2.การแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 1%ต่อปี 3.นโยบายลดภาระครู คืนครูสู่สังคม เพิ่มนักการภารโรง 25,370 อัตรา และแก้ปัญหาหนี้สินให้ข้าราชการครู งบ 100ล้านบาท

“ฝากกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา 1.ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองด้านการศึกษา เรียนฟรีต้องเรียนฟรีจริง ไม่ใช่แค่วาทกรรมเพ้อฝัน  2.เปิดเสรีทรงผมและการแต่งกาย ปลดความเครียดให้นักเรียน” น.ส.ลินธภรณ์ กล่าว