“นายกฯ” อภิปรายร่างพรบ.งบประมาณปี 68 คาดจีดีพีโต 2.5-3.5% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ตอกย้ำ"ดิจิทัลวอลเล็ต" 1 หมื่นบาท ถึงมือประชาชนกว่า 50ล้านคนปลายปีนี้แน่นอน  ด้าน “ชัยธวัช”จวกรัฐบาลยับ จัดงบมักง่าย-สุ่มเสี่ยงสุดๆ ดันทุรังแจกดิจิทัลวอลเล็ต เย้ยนโยบายล้าหลังไป 20 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่“ชัยชนะ”ให้ฉายางบรัฐบาล“นักวิ่งราวทรัพย์”

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.67 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายงบฯ 68 ว่า การอภิปรายมี 3 วัน วันแรกจะเป็นภาพรวมกระทรวงการคลัง วันที่ 2 เรื่องสังคม วันที่ 3 เรื่องกระจายอำนาจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการตั้งงบประมาณรอบนี้เพิ่มขึ้นจากปี 67 เป็น 220,000 ล้านบาท ในส่วนงบกลางเพิ่มขึ้น 190,000 ล้านบาท ตนจึงตั้งคำถามว่าทำเพื่อมารองรับดิจิทัลวอลเล็ตใช่หรือไม่

เมื่อถามว่า มั่นใจว่างบประมาณจะผ่านหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายชัยชนะ กล่าวว่า คิดว่าต้องผ่านอยู่แล้ว เพราะการบริหารราชการแผ่นดินต้องมีงบประมาณ แต่เราตั้งข้อสังเกตว่าการทำงบที่เกินดุลอยู่เรื่อยเป็นปัญหาต่อสถานการณ์คลังของประเทศในวันข้างหน้า

“ขอให้ติดตามการอภิปรายงบประมาณ ผมให้ฉายาการอภิปรายครั้งนี้ว่า “รัฐบาลนักวิ่งราวทรัพย์” หมายความว่ากู้เดินหน้าไม่กังวลถึงสถานะการเงินการคลัง แล้วเอาเงินที่กู้มาแจกประชาชน แล้วบอกเป็นผลงานตัวเองW
    
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน มีระเบียบวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แถลงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 โดยเป็นงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท  ในปีนี้ไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ 2.88 ล้านล้านบาท มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 865,700 ล้านบาท

โดยการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 ดังกล่าวอยู่ภายใต้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 68 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะขยายตัวได้ 2.5-3.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.7-1.7% และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 1.5% ของ GDP

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 68 มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ สร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศ ผ่านการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลาง 8 อุตสาหกรรมบนการพัฒนา 6 พื้นฐานสำคัญ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณ ในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสร้างความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน

"ในช่วงปลายปี 2567 นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือคนไทย 50 ล้านคน เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้ภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้ประเทศต่อไป" 

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สำหรับการจัดทำงบประมาณปี68 กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ที่ 1  ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 405,412.8 ล้านบาท คิดเป็น 10.8% ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 398,185.9 ล้านบาท คิดเป็น 10.6% ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 583,023.4 ล้านบาท คิดเป็น 15.5% ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 923,851.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.6% ของวงเงินงบประมาณ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 137,291.9 ล้านบาท คิดเป็น 3.7% ของวงเงินงบประมาณ และยุทธศาสตร์ที่ 6  ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย จำนวน 645,880.9 ล้านบาท คิดเป็น 17.2% ของวงเงินงบประมาณ


นายเศรษฐา กล่าวว่า งบประมาณปี 68 จำนวน 3.75 ล้านล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2.88 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท แม้ว่างบประมาณปีนี้จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็น 24.2% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27.9% และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา

การจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลจึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้ประเทศ พัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามกฎหมาย

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายว่า จะขอพูดประเด็นใหญ่ ประเด็นแรก ต้องสรุปภาพรวมของตัวเลขว่า งบประมาณปี68 กำหนดวงเงินงบสูงมากเป็นประวัติการณ์ 3.75 ล้านล้านบาท เงินที่นำมาใช้จ่ายมาจาก 2 ส่วน นั่นคือรายได้รัฐบาลและเงินกู้ การประมาณการรายได้ของรัฐบาลว่าจะมีรายได้สุทธิถึง 2.88 ล้านล้านบาท รายจ่ายก็จะนำมาจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของงบ 8.65 แสนล้านบาท ถือเป็นการวางงบเงินกู้เกือบชนเพดาน สูงสุดไม่เกิน 8.7 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบปี 2567 งบปีนี้จัดสรรเพิ่มขึ้นถึง 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.8 เป็นการเพิ่มงบประมาณในสัดส่วนที่สูงที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

นายชัยธวัช กล่าวว่า การเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของประเทศอย่างก้าวกระโดด โดยกู้เงินมาใช้จนเกือบชนเพดานขนาดนี้จะสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่นั้น จำเป็นต้องไปดูในรายละเอียดว่ารัฐบาลของเรากำลังจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ในการพิจารณางบปี 2567 ครั้งที่ผ่านมา เราและพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องผิดหวังกับการจัดสรรงบของรัฐบาลชุดใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นรัฐบาลใหม่ยังอ้างได้ว่ายังไม่สามารถจัดสรรงบได้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นงบประมาณที่ค้างมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า มาคราวนี้งบปี 2568 ต้องถือว่าเป็นการจัดสรรงบที่อยู่ในอำนาจเต็มของรัฐบาลใหม่แล้ว ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้อีก แต่เมื่อเราเข้าไปดูในรายละเอียดก็ยิ่งผิดหวังกว่าครั้งก่อน ถึงขั้นหมดหวัง เพราะเป็นการจัดสรรงบประมาณประเทศที่แทบจะเหมือนเดิม มีปัญหาแบบเดิมๆ เรียกได้ว่าเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือดิจิทัลวอลเล็ต

นายชัยธวัช กล่าวว่า ปัญหาแรก งบเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือดิจิทัลวอลเล็ต ปัญหาเดิมสำหรับการพิจารณางบ 2568 คือการจัดสรรงบที่มียุทธศาสตร์เต็มไปหมด แต่ไม่มียุทธศาสตร์เพราะเป็นการจัดสรรงบที่มีคำพูดสวยหรูเต็มไปหมด แต่ลงรายละเอียดก็ล้วนซ้ำซาก ซ้ำซ้อน เบี้ยหัวแตก มองไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจน ตัวชี้วัดการใช้งบก็เหมือนเดิม เป็นการใช้งบโดยไม่สนใจผลลัพธ์ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลใหม่เข้ามาปรับแก้กลางทาง อย่างน้อยยังมีโครงการใหม่ๆ ถึง 236 โครงการ แต่งบปีนี้รัฐบาลใหม่มี่อำนาจเต็มในการจัดสรร กลับมีโครงการใหม่เพียง 163 โครงการ ยังไม่นับโครงการที่ใหม่ไม่จริง เหล้าเก่าในขวดใหม่เยอะมาก รายจ่ายในการลงทุนมีจำนวนมากที่เป็นรายจ่ายลงทุน ไม่มีการใช้จ่ายที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไปยึดโยงกับเครือข่ายการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนผลักดันรัฐบาลเข้าสู่อำนาจ

นายชัยธวัช กล่าวว่า แต่ทั้งหมดยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลใหม่ของเราไม่มีวาระทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่ากำลังจะทำอะไรกันแน่ แต่ละกระทรวงต่างคนต่างอยู่ในอาณาจักรของตนเอง ต่างคนต่างทำไร้ทิศทาง ผู้นำรัฐบาลก็ถนัดแต่สั่งการ แต่ไม่รู้วิธีการว่าต้องทำยังไง พอนายสั่ง ข้าราชการก็เลยจัดให้แบบขอไปที ใช้งบแบบเดิมๆ เอาโครงการเดิมๆ มาแปะป้ายใหม่ ให้ดูว่าเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลใหม่แล้ว สรุปเป็นตัวเลขสวยหรูว่าตอบสนองนโยบายใหม่อย่างไร

"หากจะมีอะไรใหม่สำหรับวาระของรัฐบาลที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านงบประมาณรายจ่ายฉบับนี้ คงมีแค่เรื่องเดียว นั่นคือ ความพยายามที่จะผลักดันในระดับที่ผมเรียกได้ว่าดันทุรังเพื่อทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทให้ได้สำเร็จ ดันทุรังกันจนเรียกได้ว่าเจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้"  

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ในงบกลางของงบประมาณปี68 เป็นรายการตั้งใหม่ในชื่อ "ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ" จำนวน 1.57 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของงบกลาง นอกจากนี้ เฉพาะงบที่จะใช้จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่เพียงพอจะ จึงมีการคาดการต่อว่าจะใช้เงินจากใช้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1.72 แสนล้านบาท และน่าจะมีการของบกลางปี 2567 เพิ่ม 1.22 แสนล้านบาท หากยังไม่พอรัฐบาลอาจออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณ จากงบเงินสำรองรายจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใส่เพิ่มอีก แต่โดยรวมผลจากการจัดหางบมาใช้สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางการคลัง ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ภาระการจ่ายหนี้ของรัฐจะสูงขึ้นในอนาคต สูญเสียพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉินจริงๆ หรือการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ในอนาคต

นายชัยธวัช กล่าวว่า สอง ในเมื่อรู้ว่าเสี่ยง แต่ทำไมงบปี 2568 จึงมีลักษณะเจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ คำตอบ คือเป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ประสบปัญหาวิกฤตความชอบธรรมทางการเมืองจากการจัดตั้งรัฐบาล และพอเข้ามาบริหาร จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศและปากท้องของประชาชนดีขึ้น ดังนั้น พรรคแกนนำรัฐบาลจึงเหลือความหวังเดียว คือเชื่อว่าหากสามารถผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงที่เคยหาเสียงไว้ได้สำเร็จ ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจะฟื้นกลับมา ในสภาพการณ์ที่ข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ พี่น้องประชาชนจำนวนก็หวังจะได้เงินหมื่นของรัฐบาลมาจับจ่ายใช้สอย เราต้องเข้าใจประชาชนคนเล็กคนน้อย แต่ปัญหาคือในสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่ได้ต้องการรัฐบาลที่จะแสวงหามุ่งความนิยมจากประชาชนแบบมักง่าย สายตาสั้นเช่นนี้ แต่เราต้องการรัฐบาลที่มีเจตจำนงในการผลักดันนโยบายที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ

นายชัยธวัช อภิปรายอีกว่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือหากสุดท้ายนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่พรรคแกนนำรัฐบาลกำลังดันทุรังทำไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศจริงๆ การจัดสรรงบปี 68 ก็จะเป็นการจัดสรรงบที่ไม่ได้เอาโจทย์ของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาโจทย์ของพรรคแกนนำรัฐบาลเป็นตัวตั้ง รัฐบาลนี้กำลังมุ่งแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองของตนเอง โดยเอาโอกาสและอนาคตของประเทศมาวางเป็นเดิมพัน ประเทศเจ๊งไม่ว่า แต่ต้องรักษาหน้าพรรคแกนนำรัฐบาลให้ได้

นายชัยธวัช อภิปรายว่า สาม ทำไมการจัดงบปี 68 จึงไม่ตอบโจทย์ของประเทศ จริงๆ แล้วโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายที่คิดขึ้นมาเพื่อหาเสียงแบบฉาบฉวย ยังคิดไม่เสร็จตั้งแต่ต้น เราจึงเห็นการดำเนินนโยบายเรือธงอันนี้แบบคิดไป ทำไป กลับไปกลับมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ แต่พรรคแกนนำรัฐบาลก็โหมโฆษณาตลอดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นการกระจายเม็ดเงินลงไปในพื้นที่ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริโภค แล้วจะไปทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจหลายรอบจนไปกระตุ้นการผลิต การลงทุน และการจ้างงาน

ประเทศไทยของเราต้องการโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่และการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ เรายังมีโจทย์ของประเทศอีกมาก ซึ่งดูจะไม่ใช่โจทย์ของรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณ เช่น โจทย์การศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกเครื่องกระบวนการและคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง รวมถึงการลงทุนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ของเยาวชนและคนวัยทำงานให้ทันโลก การจัดสรรงบประมาณที่รัฐบาลทำอยู่ก็ไม่ตอบโจทย์ โจทย์สังคมสูงวัย เราต้องการเพิ่มอัตราการเกิดอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่การลงทุนกับสวัสดิการสำหรับแม่และเด็กที่เพียงพอก็ยังไม่ใช่วาระเร่งด่วนในงบประมาณของรัฐบาล โจทย์ของชนบทไทยที่ต้องการการใส่งบประมาณจากรัฐเพื่อสนับสนุนสิทธิในที่ดินที่มั่นคงของชาวบ้าน หรือการพัฒนาแหล่งน้ำ ก็ไม่เห็นคำตอบจากงบประมาณของรัฐบาล

นายชัยธวัช กล่าวทิ้งท้ายว่า สรุปการจัดสรรงบประมาณปี68 สะท้อนให้เห็นว่าโจทย์ของรัฐบาลไม่ใช่โจทย์ของประเทศ การจัดสรรงบประมาณครั้งนี้จึงเป็นการจัดงบที่มักง่ายที่สุด สุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะรัฐบาลกำลังเอาทรัพยากรของประเทศไปมุ่งแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเฉพาะหน้าของตัวเอง โดยเอาโอกาสของคนไทยทุกคนและอนาคตของประเทศมาวางเดิมพันอย่างไม่รับผิดชอบ วิสัยทัศน์อิกไนต์ ไทยแลนด์ เป็นอิกนอร์ ไทยแลนด์ เจ๊งไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ และเป็นเหตุผลที่ผมไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบ 68