วันที่ 19 มิ.ย.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ผู้สมัคร สว. สมุทรสาคร กลุ่มที่ 17 เข้ายื่นคำร้องพยานหลักฐานการฮั้วลงคะแนนเลือก สว. ในจังหวัดสมุทรสาคร
โดยนายษิทรา เปิดเผยว่า กว่าจะได้รับเลือกเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกกลุ่มอาชีพจะมีคนของพรรคการเมืองไปลงสมัครในทุกกลุ่ม การที่ตนลงสมัครโดยที่ไม่ได้สังกัดใคร เมื่อไปขอคะแนนเขาก็จะปฏิเสธว่าไม่ได้ เพราะเขาต้องเลือกตามโพย ซึ่งได้พบกับคนที่ถูกจัดตั้งมา โดยสมัครในกลุ่ม 5 อธิบายให้ฟังถึงโพย ว่าต้องลงเลือกอะไรบ้าง สมมติว่ากลุ่ม 1 หมายเลข 2 ลงในรอบบ่าย เขาก็จะเลือกลำดับถัดไป ซึ่งเขาจะมีตัวแทนของเขาหมด แล้วพวกนี้คะแนนจะโดดกว่ากลุ่มอื่น ซึ่งคนที่มีชื่ออยู่ในโพยของสมุทรสาครได้รับเลือกเข้ามาทั้งหมด การลงสมัครครั้งนี้ตนพยายามที่จะพูดคุยกับคนที่ถูกจัดตั้ง และคนที่ไม่ได้ถูกจัดตั้งเพื่อขอคะแนน จนทำให้ในวันเลือกระดับจังหวัด ตนได้รับคะแนนจากทั้ง 2 กลุ่ม วันนี้จึงนำหลักฐานมายื่นต่อกกต.ว่ามีการฮั้วอย่างไรบ้าง แล้วก็จะมีการเอาพยานเข้ามาให้ถ้อยคำ
"เท่าที่สอบถามจากกลุ่มจัดตั้ง บอกว่ามีนักการเมืองในจังหวัดสมุทรสาครชื่อ อักษรย่อ ป. จะเป็นคนสั่งให้ทุกอำเภอ หาคนมาลงสมัครทุกกลุ่มอาชีพ ยังดีที่ในสมุทรสาครกลุ่มของเขาเข้ามาได้แค่มากกว่าครึ่งนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่พรรคนี้ทำทั้งประเทศ กรุงเทพฯอาจจะยากหน่อย แต่เขาจะเน้นในจังหวัดเล็กๆที่มีอำเภอไม่ถึง 10 อำเภอ อย่างภาคอีสานบางจังหวัดเขาได้ยกจังหวัด" นายษิทรา กล่าว
นายษิทรา ยังอธิบายถึงการฮั้วที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ว่า คนที่เล่าให้ฟังระบุว่ามีการจ่ายเป็นค่าจ้าง โดยในวันสมัครจะมีการออกค่าสมัครค่าถ่ายรูปใบรับรองแพทย์ และในวันที่ไปเลือกระดับอำเภอก็จะได้เงินสดจำนวน 5,000 บาทก่อนไปเลือก และอีก 5,000 บาท จะได้หลังจากที่เขียนหมายเลขแล้วไม่ผิดเลย แต่ถ้าเขียนผิดจะไม่ได้เงิน 5,000 หลังนี้ เมื่อเข้าสู่รอบระดับจังหวัดก่อนไปก็จะได้ค่าน้ำมัน 5,000 บาท และถ้าเขียนหมายเลขครบถูกต้องก็จะได้อีก 5,000 บาท และเท่าที่ทราบขณะนี้ค่าตัวก็เพิ่มขึ้นในระดับประเทศ ค่าใช้จ่ายที่จะมาก็เยอะขึ้น ซึ่งถ้าจังหวัดไหนมีข้อมูลก็สามารถส่งมาได้ที่ กกต.อย่างในจังหวัดนครราชสีมาก็มีการส่งข้อมูลมาให้กับตน แล้ววันนี้ตนได้นำข้อมูลของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นโพย แชทไลน์ที่นักการเมืองอักษรย่อ ป. มีการพูดคุยสื่อสาร ที่มีการเขียนว่าให้ลงหมายเลขใดบ้าง ซึ่งเมื่อกกต.มีการสอบก็จะเอาพยานบุคคล ซึ่งเป็นทั้งผู้ได้รับเลือกเป็น สว.ระดับจังหวัด และผู้ที่สอบตกมาให้ข้อมูลเพื่อโยงไปถึงนักการเมือง ป.
นายษิทรา กล่าวอีกว่า การที่ กกต.แจกเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครให้กับผู้สมัครในวันเลือกระดับประเทศ ไม่สามารถทำให้ผู้สมัครศึกษาข้อมูลได้ทัน เมื่อลงคะแนนแล้วคะแนนก็จะกระจายไม่สามารถสู้กับผู้สมัครที่มีคะแนนจัดตั้งมาได้ เพราะพรรคการเมืองเขามีคะแนนจัดตั้งมาจากหลายจังหวัด แล้วถ้าเราไม่สู้เราก็จะแพ้คะแนนแน่ ดังนั้นเมื่อ กกต.ไม่ทำหน้าที่จัดให้ผู้สมัครได้เจอกัน ตนก็จะจัดเอง ใครที่ต้องการร่วมอุดมการณ์เดียวกับตนสู้กับพวกจัดตั้ง ให้แอดไลน์มาที่ @Sittra เพื่อที่จะได้นัดพบกัน และมั่นใจว่าการรวมตัวไม่ผิดกฎหมายเพราะเราไม่ได้ไปจ้างมาหรือจัดเลี้ยง แต่เป็นการรวมตัวเพื่อพูดคุย เพื่อที่จะได้รู้ถึงประวัติของแต่ละคน
"วันนี้ผมไม่ได้ขอคะแนนอะไร แต่อยากช่วยหลายๆคนที่เป็นคนเก่ง คนดี ที่ไม่ได้สื่อรู้จัก ไม่ได้มีคนรู้จัก ผมอยากจะชนะกับกลุ่มจัดตั้ง ผมหมั่นไส้ตั้งแต่ที่สมุทรสาครแล้ว อยากจะไปถอนยันราก จึงมาร้องเพราะคนที่ทำแบบนี้ จ้างคนมาลงสมัครมันมีโทษจำคุก 10 ปี และผมมาร้องก็ไม่ใช่เพราะผมกลัวจะแพ้ในการเลือกสว.รอบประเทศ
แต่ข้อเท็จจริงผมได้เปรียบกว่าคนอื่น เนื่องจากมีคนรู้จักอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำให้คนมาเจอกันเลย เพราะถ้ามาเจอโอกาสที่จะเลือกผมก็น้อย ถ้าผมเห็นแก่ตัว สู้ทำให้เขาไม่รู้จักกัน รู้จักผมคนเดียวพอ ไม่ดีกว่าหรือ แต่อันนี้ไม่ใช่ผมต้องการทำให้เฉพาะกลุ่มผมกลุ่มเดียว แต่ต้องการทำทุกกลุ่ม อย่างที่สมุทรสาคร ผมลงกับเพื่อนสามารถเข้ารอบกันมาได้ 5 กลุ่ม ถ้าเราไม่รวมพลังกันเราจะแพ้จัดตั้ง เดี๋ยวถึงเวลาจะบอกว่าต้องทำอย่างไร " นายษิทรา กล่าว
นายษิทรา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันพรุ่งนี้ (20 ต.ค.) จะรอฟังผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) โดยจะนัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง