วันที่ 19 มิ.ย.67 ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารให้บริการดูแลรักษาและสังเกตอาการ (ศบส.พลัส) และให้บริการศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ ศูนย์บริการสาธารณสุข 39 ราษฎร์บูรณะ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

 

โดยศูนย์ดังกล่าว เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ ครอบคลุมพื้นที่ 6.17 ตารางกิโลเมตร และประชากรกว่า 31,000 คน เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2521 เดิมเป็นอาคาร 2 ชั้น เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและประชากรเพิ่มขึ้น ในปี 2562 จึงได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารเป็นขนาด 5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 ตารางเมตร รองรับประชาชนได้มากขึ้น โดยแบ่งการให้บริการ ประกอบด้วย 1.จุดประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำการให้บริการด้านต่าง ๆ 2.ห้องบัตร เพื่อบันทึกประวัติการรักษา 3.จุดซักประวัติ เพื่อคัดกรองผู้รับบริการและซักประวัติก่อนพบแพทย์ 4.ห้องสังเกตอาการ เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น ลดการเดินทาง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และเตรียมความพร้อมกรณีต้องส่งต่อโรงพยาบาล 6.ห้องปฏิบัติการพยาบาล ห้องจ่ายยา และห้องการเงิน

 

ในส่วนการให้บริการ ประกอบด้วย คลินิกทันตกรรม คลินิกก้าวใหม่ คลินิกเลิกบุหรี่ ศูนย์คัดกรองยาเสพติด คลินิกวางแผนครอบครัว ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงห้องประชุมและจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่าง ๆ โดยแบ่งเวลาให้บริการ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ดังนี้ คลินิกตรวจโรคทั่วไป คลินิกทันตกรรม และคลินิกพิเศษต่าง ๆ เวลา 08.00 น.-12.00 น. คลินิกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น ฝากครรภ์ สุขภาพเด็ก และฉีดวัคซีน เวลา 13.00-16.00 น. คลินิกนอกเวลาราชการ เวลา 16.00-20.00 น.

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งที่ กทม.ให้ความสำคัญมาตลอดคือเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามวงจร โง่ จน เจ็บ ยกตัวอย่าง หากการศึกษาไม่ดี สุขภาพทรุดโทรม จะทำให้ชีวิตยิ่งแย่ลง ประกอบอาชีพไม่ได้ ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรโง่ จน เจ็บ ดังนั้น ศูนย์บริการสาธารณสุขจึงมีความสำคัญ เป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการป่วยหนัก หรือการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยลดความหนาแน่นของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และช่วยให้ผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลได้รับการดูแลอย่างเต็มประสิทธิภาพ กทม.จึงพยายามปรับนโยบายด้านสาธารณสุขให้มีความเข้มแข็งขึ้น และจะเพิ่มจำนวน ศบส. มากขึ้นตามแผน

 

ตามหลักการ ศบส.ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง โดยมีอาสาสมัครต่าง ๆ ทำหน้าที่ให้บริการตามชุมชน เพื่อเชื่อมโยงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงในระดับเส้นเลือดฝอย ภายใต้การกำกับดูแลและให้ความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำโซนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ แต่ละ ศบส.จำเป็นต้องมีความคล่องตัว และมีนวัตกรรมของตนเอง เพื่อตอบโจทย์คนในชุมชน รวมถึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ในการส่งเสริมบุคลากรผู้ให้บริการทั้งด้านคุณภาพชีวิตและความมั่นคง เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่

 

"เราเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากกับการเก็บขยะ ที่จริงแล้วต้องลดค่าใช้จ่ายในการเก็บขยะแล้วมาเพิ่มให้สาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

​​​​​​​