ปกติแล้วการนำเข้าสินค้าใดๆเข้ามาย่อมกระทบถึงปริมาณและราคาของสินค้านั้นๆภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น หมูเถื่อน ที่เข้ามาเบียดเบียนหมูไทย จนถึงขั้นทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องเลิกอาชีพไปเป็นจำนวนมาก ล่าสุด “สถานการณ์กุ้งไทย” ก็ไม่ต่างกัน แม้จะเป็นการนำเข้ากุ้งอย่างถูกกฎหมายตามมติของชริมพ์บอร์ด แต่ก็ส่งผลถึงราคากุ้งในประเทศไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพราะแม้กุ้งไทยจะราคาถูกเพียงใดก็ไม่มีโรงงานซื้อ เนื่องจากต้องการนำเข้ากุ้งที่ราคาถูกกว่า ส่งผลให้ราคากุ้งในขณะนี้ตกต่ำจนสร้างความเดือดร้อนให้ผู้เลี้ยงกุ้งไทยอย่างหนัก 

ที่สำคัญ ราคากุ้งตกต่ำในขณะนี้ “ไม่มีแนวทางแก้ไขใดๆ” ออกมาจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมประมง กระทรวงพาณิชย์ หรือแม้แต่ ชริมพ์บอร์ด ที่เป็นผู้อนุมัตินำเข้ากุ้ง ทั้งที่มีข้อมูลว่าตลอด 2 ปีตั้งแต่มีการอนุมัตินำเข้า ระดับราคากุ้งก็ผันผวนและตกต่ำเรื่อยมา ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการนำโรคระบาดเข้ามายังประเทศไทยด้วย 

ไม่เพียงไม่มีแนวทางแก้ไข แต่อธิบดีกรมประมง ยังออกมาแก้ต่างว่า ปริมาณการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.62% ของผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมภายในประเทศเท่านั้น ไม่สามารถกระทบต่อราคาจำหน่ายกุ้งภายในประเทศได้ 

ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เริ่มตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทหน้าที่ของ “กรมประมง” ว่าได้ทำหน้าที่ในการปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งบ้างหรือไม่ เหตุใดจึงออกมาให้ข้อมูลเช่นนี้ ทั้งๆที่สิ่งที่ควรเอ่ยถึงคือแนวทางแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำให้เกษตรกร แตกต่างมากกับหลายๆ ประเทศ ที่ล้วนให้ความสำคัญกับการปกป้องเกษตรกรในประเทศของเขา เช่น สหรัฐฯ และเอกวาดอร์ ที่ปกป้องดูแลผู้เลี้ยงกุ้งอย่างจริงจัง ใครนำเข้ากุ้งไปขายราคาต่ำกว่าราคาขายของเกษตรกรในประเทศ จะถูกฟ้องทุ่มตลาดเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูง 

หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา ระบุว่าอยากขอร้องให้ กรมประมงหันมาเคียงข้างเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ถือปฏิบัติ  ซึ่งจะทำให้เกิดความจริงจังในการออกแนวทางแก้ปัญหาราคากุ้ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเกษตรกรจะสามารถอยู่รอดสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่คนไทยต่อไปได้อย่างยั่งยืน 

กรมประมง ถือเป็นผู้นำที่ต้องแอ็คชั่นและมีบทบาทสำคัญที่สุด  ควรหลีกเลี่ยงการสร้างภาพจำ ว่าเป็นหน่วยงานที่เอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  แต่ควรมุ่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรโดยตรง ขณะที่ข้อเสนอที่เกษตรกรร้องขอให้กรมเร่งแก้ไข ก็ไม่ได้มีอะไรยากเกินศักยภาพของกรม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคกุ้งขาวภายในประเทศ หรือการจัดหาตลาดต่างประเทศที่จะรองรับผลผลิตกุ้งแปรรูปของไทย เพื่อเปิดท่อปลายทางให้กุ้งแปรรูปไทยได้ไปต่อ โดยข้อนี้ควรอยู่บนข้อกำหนดให้ “ห้องเย็น” ใช้วัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทยเท่านั้น หรือหากมองว่ากุ้งไทยมีต้นทุนการผลิตสูง ก็ควรส่งเสริมสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลง เช่น จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูให้เกษตรกรลงทุนปรับปรุงพัฒนาระบบการเลี้ยง เป็นต้น 

อุตสาหกรรมกุ้งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความพร้อม ทั้งคุณภาพสายพันธุ์ มาตรฐานการเลี้ยง คุณภาพอาหารกุ้ง เทคโนโลยีการแปรรูป มีความพร้อมมากแทบจะทุกๆ ขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต จะขาดก็เพียงแรงสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐ และแรงสามัคคีของคนในห่วงโซ่เดียวกัน  เชื่อว่าหากแก้ในประเด็นเหล่านี้ได้ กุ้งไทยก็ผงาดได้ไม่แพ้กุ้งชาติใดในโลกเหมือนกัน

โดย : รังสรรค์ ชลาสินธุ์