เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากห้องประชุม ชั้น 11 อาคารกระทรวงยุติธรรม ว่า กระทรวงสาธารณสุข นำโดย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ และคณะ เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหารือข้อราชการ เรื่องการพัฒนาระบบสาธารณสุข สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ อาทิ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ และสิทธิของผู้ต้องขังและสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการรับข้อเสนอเรื่องสิทธิของผู้ต้องขังและสิทธิในการได้รับบริการ สาธารณสุขจากรัฐไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ อาทิ นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายแพทย์สมภพ สังคุตแก้ว ผู้ตรวจราชการ กรมราชทัณฑ์ และ นายแพทย์วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และคณะ ร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย เพื่อมุ่งสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานและความเพียงพอของบริการสนับสนุนบริการสำหรับกลุ่มผู้ต้องขัง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประเทศไทย มีผู้ต้องขังเกินกว่าความจุของเรือนจำนับเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชียและเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยที่มีผู้ต้องขังมากประมาณ 3 แสนคน โดยจำนวนผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยและมาขอรับการรักษาที่สถานพยาบาลในเรือนจำมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มมากสูงขึ้น ความแออัด และสภาพแวดล้อมของเรือนจำ ประกอบกับนโยบายของผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ที่เน้นให้ความสำคัญ ในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังส่งผลให้มีการคัดกรองโรคและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น เรือนจำสามารถค้นหาโรคและยุติการเกิดโรคหรือให้การรักษาได้เร็วขึ้น อาทิไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ฯลฯ มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ส่งผลให้มีระบบการรายงานโรคที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการคัดกรองผู้ต้องขังแรกรับ ที่อยู่ในแดน/สถานที่/พื้นที่ที่เรือนจำกักกันไว้ ก่อนที่จะแจกจ่ายไปยังแดน/สถานที่/พื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะกรณีมีการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง และเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ