"รัดเกล้า" เผย ครม. เห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียว

วันที่ 18 มิ.ย.67 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียวกำลังผลิตติดตั้งรวม 6.75 เมกะวัตต์ โดยมีวงเงินขออนุมัติ 959.76 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินตราต่างประเทศ 243.83 ล้านบาท และ (2) เงินบาท 715.93 ล้านบาท โดยให้สามารถเกลี่ยงบประมาณระหว่างโครงการได้ ทั้งนี้ ให้ถือว่า กฟผ. ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อการลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่ายประจำปี 2567 ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำปาว เขื่อนห้วยแม่ท้อ และเขื่อนกระเสียว เป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (แผน PDP2018 Rev.1) ซึ่งทั้ง 4 โครงการเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ติดตั้งท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน โดยเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการร่วมกับเขื่อนเพื่อให้สามารถบริหารการจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักเดิมของการสร้างเขื่อน รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดและมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ 

กฟผ. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของทั้ง 4 โครงการ โดยคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาดังกล่าวแล้ว รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์ – เพื่อช่วยเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ภายในประเทศ และดำเนินการตามนโยบายภาครัฐตามแผน PDP2018 Rev.1 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย

แผนการเบิกจ่าย – ปี พ.ศ. 2567 วงเงิน 495.28 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2568 วงเงิน 358.21 ล้านบาท ปี พ.ศ. 2569 วงเงิน 106.27 ล้านบาท รวม วงเงิน 959.76 ล้านบาท

แหล่งเงิน – เงินรายได้ของ กฟผ. ร้อยละ 40 และแหล่งเงินทุนอื่นๆ (เงินกู้) ร้อยละ 60 โดย กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายโครงการฯ ดังนี้

(1) ค่าใช้จ่ายในส่วนเงินบาท ใช้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือหลายแหล่งรวมกันจากธนาคาร/สถาบันการเงินในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและเงินรายได้ของ กฟผ.

(2) กรณีที่จำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศ ใช้จากแหล่งใดแหล่งหนึ่งหรือหลายแหล่งรวมกันจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ธนาคาร/สถาบันการเงินต่างประเทศและ/หรือในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ

การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม    

(1) โครงการฯ ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) 
- รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment: EHIA) 
- รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) 
- รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ (Environmental Site Assessment: ESA)

(2) โครงการฯ ต้องจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมสำหรับการขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (รายงานสิ่งแวดล้อมฯ) ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมสำหรับการขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2563

[ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคองและเขื่อนลำปาวได้รับความเห็นชอบรายงานสิ่งแวดล้อมฯ เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนห้วยแม่ท้อและเขื่อนกระเสียวอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมฯ]

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ

1. เพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศตามแผน PDP2018 Rev.1 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดและในภูมิภาค ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นไปตามนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย

2. ประชาชนในประเทศได้ใช้พลังงานสะอาดที่มีเสถียร เนื่องจากสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วภายในเวลา 5 นาที และสามารถเพิ่มหรือลดพลังงานได้ตามความต้องการของระบบไฟฟ้า และไม่สางผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

3. ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด

4. ส่งเสริมงานวิจัยเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก และพัฒนาความรู้ของบุคลากร กฟผ.

5. เป็นการบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

6. ส่งเสริมงานประชาสัมพันธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและส่งแวดล้อมขององค์กรและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ กฟผ.

ทั้งนี้ สลค. มีข้อสังเกตว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันอันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง โดยในห้วงปี 2558 และปี 2566 ที่ผ่านมาเคยเกิดสถานการณ์ระดับน้ำในเขื่อนลำตะคองแห้งขอดเนื่องจากสภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้กรมชลประทานต้องลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเก็บไว้ใช้เพื่อการเกษตร ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากกรณีดังกล่าว กฟผ. จึงควรจัดทำแผนรองรับกรณีดังกล่าวในอนาคต และควรศึกษาถึงศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสม รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและลักษณะทางกายภาพของแต่ละพื้นที่เพิ่มเติม เช่น โรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม โดยประเมินลกระทบและความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน